นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เช้านี้เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 36.73 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดช่วงเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 36.78 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทแข็งค่าจากท้ายตลาด หลังดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ ออกมาชะลอลงตามคาด ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินส่วนใหญ่
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.65 – 36.90 บาท/ดอลลาร์
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามวันนี้ คือ ดัชนีภาคบริการเดือนมิ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)
*ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยน อยู่ที่ระดับ 160.87 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 160.91 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0748 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0693 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 36.848 บาท/ดอลลาร์
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยขึ้นราคาน้ำมันดีเซลจ่อดันราคาขนส่งพุ่ง 9% กระทบการขนสินค้าขนาดใหญ่ปรับตัวขึ้น หวั่นสินค้ากำไรต่ำได้รับผลก่อน ชี้ยังพอแบกได้แค่ 3 เดือน ทวงมาตรการรัฐช่วยดูแลโครงสร้างพลังงานไม่ให้ซ้ำรอยเดิม
- รมว.คมนาคม กางแผน เร่ง พ.ร.บ. SEC เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา ก.ย.นี้ คาดสภาไฟเขียว เม.ย.68 พร้อมเร่งเปิดประมูลเมกะโปรเจกต์ “แลนด์บริดจ์” ลั่นสร้างเสร็จพร้อมเปิดให้บริการเฟสแรกปี 73
- กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนแรก ปี 2567 ว่า ไทยส่งออกข้าวรวมทั้งสิ้น 4.60 ล้านตัน มูลค่า 2,957 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 106,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีปริมาณ 3.48 ล้านตัน มูลค่า 1,904 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 64,573 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณเพิ่มขึ้น 32.18% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 55.30% ตามลำดับ
- ผลสำรวจภาคธุรกิจที่เผยแพร่ในวันนี้ ระบุว่า ภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงทรงตัวในเดือนมิ.ย. 67 สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่ซบเซา ขณะที่บริษัทต่าง ๆ ยังคงเผชิญกับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากเงินเยนอ่อนค่า
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมิ.ย.อยู่ที่ระดับ 49.5 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับในเดือนพ.ค. โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของจีนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (28 มิ.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่เป็นไปตามคาดการณ์ซึ่งสนับสนุนความหวังที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนก.ย.
- ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (28 มิ.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อลดลงในเดือนพ.ค. ซึ่งตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้
- ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมิ.ย. จากเอสแอนด์พี โกลบอล, ดัชนีภาคบริการเดือนมิ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนพ.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนมิ.ย. จากเอสแอนด์พี โกลบอล, ดัชนีภาคบริการเดือนมิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 67)
Tags: FX, ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท