เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ (1 ก.ค.) บ่งชี้ว่า ภาคโรงงานของเกาหลีใต้ขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 26 เดือนในเดือนมิ.ย. 2567 โดยได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการทั่วโลกที่ฟื้นตัว
รายงานระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเกาหลีใต้ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.0 ในเดือนมิ.ย. จาก 51.6 ในเดือนพ.ค. เมื่อปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว โดยเป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2565 และยังคงอยู่เหนือระดับ 50 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
“ข้อมูลที่แข็งแกร่งต่อเนื่องอีกเดือนเป็นหลักฐานตอกย้ำว่า กิจกรรมภาคอุตสาหกรรมและการค้าโลกกำลังฟื้นตัว” นายโจ เฮย์ส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ กล่าว
“ผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมและคำสั่งซื้อของเกาหลีใต้ถูกมองว่าเป็นตัวชี้วัดสำหรับการส่งออกและมักให้สัญญาณบ่งชี้แนวโน้มในวงกว้าง เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานสินค้าขั้นกลางที่สำคัญ เช่น แบตเตอรี่และเซมิคอนดักเตอร์”
ดัชนีย่อยแสดงให้เห็นว่า คำสั่งซื้อใหม่ขยายตัวในอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2565 จากความต้องการที่แข็งแกร่งขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมีการเติบโตมากที่สุดในรอบ 5 เดือน
ผลสำรวจระบุว่า ประเทศในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม และญี่ปุ่น รวมถึงภูมิภาคอื่น ๆ เช่น อเมริกาเหนือและยุโรป เป็นตลาดที่ยอดขายมีการเติบโต
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเกาหลีใต้กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การส่งออกของเกาหลีใต้ซึ่งเติบโตขึ้นตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว อันมีปัจจัยหลักมาจากความต้องการชิปคอมพิวเตอร์และจากสหรัฐนั้น กำลังฟื้นตัวสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ด้านผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือนมิ.ย. แต่อัตราการเพิ่มขึ้นช้าลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขณะที่สต็อกสินค้าสำเร็จรูปลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี และงานค้างเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี บ่งชี้ว่ากำลังการผลิตของโรงงานตึงตัวขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อของต้นทุนปัจจัยการผลิตสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน โดยบริษัทต่าง ๆ ระบุว่า เป็นผลมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เอื้ออำนวยและราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโลหะ
ส่วนมุมมองในแง่ดีของผู้ผลิตต่อแนวโน้มในปีหน้าลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน เนื่องจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่าสภาวะตลาดในประเทศอาจเป็นอุปสรรคต่อผลผลิตของโรงงาน แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่ายอดขายน่าจะเติบโตได้ดีก็ตาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 67)
Tags: ภาคการผลิต, เกาหลีใต้