“สุริยะ” ปิ๊งไอเดีย! สั่งปรับทัศนียภาพ-เพิ่มพื้นที่สีเขียวใต้ทางด่วน สร้างแลนด์มาร์คใหม่-ลด PM 2.5

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ไปดำเนินการปรับทัศนียภาพโครงสร้างพื้นฐานให้สวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งกำหนดพื้นที่ต้นแบบ และวิเคราะห์รายละเอียดต่างๆ รวมถึงศึกษาข้อดี-ข้อเสียให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้หน่วยงานอื่นนำไปประยุกต์และขยายผลการดำเนินการ

การดำเนินการดังกล่าว เพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ในช่วงปลายปีนี้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่มาเยือน เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ และเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของประเทศไทยสอดคล้องนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น เพิ่มความร่มรื่น และบดบังสิ่งไม่พึงประสงค์ อาทิ สีลอกหลุด หรือคราบตะไคร่ตามกำแพง รั้ว ผนังอาคาร ที่ดูแล้วไม่สวยงามให้มีชีวิตชีวา และสวยงามมากขึ้น รวมถึงช่วยแก้ปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นจะดำเนินการปรับทัศนียภาพบริเวณเสาตอม่อใต้ทางด่วน หรือผนังว่างเปล่า โดยกำหนดรูปแบบเป็นสวนแนวตั้ง 5 รูปแบบ ได้แก่

1. ผนังไม้เลื้อย ซึ่งจะใช้วิธีปลูกพรรณไม้ลงดินในกระบะหรือกระถาง แล้วปล่อยให้ต้นเติบโต ทอดเลื้อยไปตามผนังหรือโครงสร้างเพื่อยึดเกาะ เช่น โครงเหล็ก โครงไม้ ลวดสะลิง หรือเชือกไนลอน เป็นต้น สำหรับวัสดุปลูก จะใช้ดินร่วนผสมใบไม้ผุ กาบมะพร้าวสับ ขุยมะพร้าว ส่วนพรรณไม้นั้น ควรเลือกไม้เลื้อยตามปริมาณแสงที่บริเวณนั้นได้รับ อาจเป็นไม้เลื้อยประดับ อาทิ สร้อยอินทนิล เหลืองชัชวาล พวงชมพู มอร์นิ่งกลอนี่ ไอวี่ หรือเลือกพืชสมุนไพร เช่น ดีปลี รางจืด หรืออาจปลูกไม้ผลที่ทอดเลื้อย เช่น องุ่น เสาวรส เป็นต้น

2.ผนังผ้า ประกอบด้วยโครงสร้างหลัก 3 อย่าง คือ โครงเหล็ก แผ่นพีวีซี ยึดกับโครงเหล็กทำหน้าที่เป็นชั้นกันน้ำ และถุงผ้าทำหน้าที่แทนภาชนะปลูก แล้วเดินระบบน้ำหยดไปตามโครงสร้าง เพื่อให้น้ำและสารอาหาร ส่วนวัสดุปลูก จะใช้กาบมะพร้าวสับละเอียด ใยมะพร้าว ใยปาล์ม สแฟกนัม-มอสส์เวอร์มิคูไลท์ เน้นไม้โตช้า และดูแลรักษาง่าย ถ้าปลูกพรรณไม้ที่โตเร็ว ต้องหมั่นตัดแต่งสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมการเจริญเติบโต

3.บล็อคปลูกต้นไม้ เป็นบล็อคคอนกรีตหรือดินเผา มีช่องใส่ต้นไม้ และเจาะรูระบายให้น้ำไหลผ่านลงมา เดินระบบน้ำหยดให้ผ่านแต่ละบล็อกตามระยะที่เหมาะสม ซึ่งรูปแบบนี้ เหมาะสมกับพื้นที่ที่ไม่มีโครงสร้างให้ยึดบล็อก สำหรับวัสดุปลูก จะใช้ดินร่วนผสมใบไม้ผุ กาบมะพร้าวสับขุยมะพร้าว โดยเลือกพรรณไม้ใช้ตามปริมาณแสงที่ได้รับ

4.ใช้แผ่นหรือถาดพลาสติก หรือโลหะที่มีน้ำหนักเบายึดกับโครงเหล็ก โดยแบ่งเป็นช่องๆ เพื่อบรรจุจุพรรณไม้ โดยจะใช้วัสดุปลูกทดแทนดินน้ำหนักเบา เช่น ขุยมะพร้าว ใยมะพร้าว ใยปาล์ม ซึ่งควรเลือกพรรณไม้ที่มีระบบรากตื้น เนื่องจากระบบนี้ มีพื้นที่ใส่วัสดุปลูกน้อย จำพวกไม้คลุมดินขนาดเล็ก เช่น หนวดปลาดุก หูเสือ หูเสือด่าง ริบบิ้นเขียว ผักเป็ดเขียว ผักเป็ดแดง ก้ามปูหลุด หัวใจสีแดง หรือพืชอวบน้ำ เช่น กุหลาบหิน เป็นต้น

5.กระถางแขวน ออกแบบโครงเหล็กเป็นช่องสำหรับใส่กระถางให้เอียงซ้อนกันในแนวตั้ง นิยมใช้กระถางพลาสติกที่มีรูระบายนน้ำ เพราะมีน้ำหนักเบา ข้อดีของสวนประเภทนี้ คือ สามารถเปลี่ยนกระถางได้ตามต้องการ โดยควรเลือกวัสดุปลูกที่ร่วนซุยและมีอินทรียวัตถุสมบูรณ์ เพื่อให้พืชเติบโตได้ดีในภาชนะจำกัด ส่วนพรรณไม้ ควรเป็นชนิดที่ทอดเลื้อย หรือห้อยลงเป็นระย้า เพื่อบดบังกระถางและโครงสร้างเหล็ก เช่น พรมกำมะหยี่ ริปซาลิส ปะการัง เดปด่างลิปสติก โบตั๋น สะระแหน่ประดับ ผกากรอง เลื้อยสีม่วง เป็นต้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 67)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top