สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค.67 อยู่ที่ระดับ 98.34 ลดลง 1.54% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.66 ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.67) ดัชนี MPI เฉลี่ยอยู่ที่ 98.16 ลดลง 2.08%
โดยมีปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนี MPI ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 10 โดยหดตัวจากตลาดภายในประเทศ เนื่องจากกำลังซื้อที่ลดลง จากปัญหาหนี้ครัวเรือน แต่ตลาดส่งออกยังคงขยายตัวได้ดี, หนี้ภาคครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับสูง
จากข้อมูลล่าสุด หนี้ภาคครัวเรือน ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3% ของ GDP ส่งผลให้ให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ผลิตเพิ่มขึ้น และต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่ง
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน พ.ค.67 อยู่ที่ 59.77% และช่วง 5 เดือนแรกปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 59.30%
“เดือนนี้ดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยหดตัวลงเล็กน้อย แต่แนวโน้มส่งสัญญาณที่ดี เดือนหน้าคงได้เห็นตัวเลขสีเขียว เนื่องจากมียอดนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มก็น่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย” นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าว
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบ ได้แก่
- ยานยนต์ หดตัวลดลง 14.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล ตามการหดตัวของตลาดภายในประเทศที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้ออ่อนแอ สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ แต่ตลาดส่งออกขยายตัว
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลง 17.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาวะการผลิตและการจำหน่ายลดลงของ Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก เป็นไปตามทิศทางของตลาดอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกที่ยังชะลอตัว ประกอบกับบางบริษัทมีการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูงขึ้นจึงมีปริมาณการผลิตลดลง
- คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลง 11.97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเสาเข็มคอนกรีต พื้นสำเร็จรูปคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มโมเดิร์นเทรดและตัวแทนจำหน่ายยังมีสต๊อกอยู่ในระดับสูงจึงชะลอคำสั่งซื้อ
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวก ได้แก่
- น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 19.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นหลัก เนื่องจากเกิดภาวะฝนแล้งและร้อนมากในช่วงก่อนหน้าทำให้ผลปาล์มสุกแดด จึงมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก สำหรับการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
- อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัว 10.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นจากสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปเป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าตะวันออกกลาง บาห์เรน และญี่ปุ่น รวมถึงการรับจ้างผลิตให้กับลูกค้าต่างประเทศ
- เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัว 8.18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กเส้นข้ออ้อย และท่อเหล็กกล้า เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการเร่งเบิกจ่ายในโครงการของภาครัฐ และฐานต่ำในปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ในเดือน พ.ค.67 มูลค่าการส่งออกรวมขยายตัว 7.2% ขยายตัวเป็นเดือนที่สอง จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 4.6% การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 2.9% ขยายตัวเป็นเดือนที่สอง และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 4.4% ขยายตัวเป็นเดือนที่สองเช่นกัน โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่การส่งออกขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (Printer) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน เป็นต้น
*เดือน มิ.ย.สัญญาณชะลอตัวจากปัจจัยในปท.
สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือน มิ.ย.67 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากปัจจัยภายในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัว หลังความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงจากปัจจัยเสี่ยงของปัญหาภัยแล้งที่จะกระทบต่อสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตามมาตรการยกเว้นวีซ่าในหลายประเทศ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้ ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นภาคธุรกิจยังคงปรับเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้น โดยภาคการผลิตของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในอนาคต
*โรงงานเปิดใหม่ยังขยายตัวต่อเนื่อง
นางวรวรรณ กล่าวถึงสถานการณ์การเปิด-ปิดโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศนั้นเป็นไปตามปกติ ภาพรวมช่วง 5 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.-พ.ค.67) แม้จะมีการแจ้งปิดกิจการโรงงาน แต่สัดส่วนของโรงงานเปิดกิจการใหม่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลต่อการลงทุน และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ขยายตัวต่อเนื่องมาจากช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่มีจำนวนการเปิดโรงงานมากกว่าปิด เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี สิ่งทอ แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์อโลหะ เป็นต้น
“ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล่านี้ยังคงเป็นที่ต้องการทั้งภายในและต่างประเทศ โดยจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่และกลางเป็นหลัก และเป็นสินค้าที่มีความสามารถในการเติบโตได้ในอนาคต ดังนั้นภาครัฐควรเร่งส่งเสริมการลงทุน หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสนับสนุนให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป”
นางวรวรรณ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 67)
Tags: ยอดผลิตรถยนต์, รถยนต์, สศอ., สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม