ผู้เสียหาย ZIPMEX รอลุ้นผลคดีอาญา 2 ก.ค.ลั่นเดินหน้าฟ้อง class action คดีแพ่งพร้อมเอาผิดตัวการตปท.

ตัวแทนกลุ่มร่วมสู้ Zipmex ประกอบด้วยนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกว่า 400 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า 1,400 ล้านบาท รอรับฟังคำพิพากษาคดีฟ้อง บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) และ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นจำเลยในคดีอาญาฐานร่วมกันยักยอกฉ้อโกง และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ สืบเนื่องจากกรณีปัญหาการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกับ Zipmex ส่งกระทบต่อลูกค้าผู้ลงทุนหลายหมื่นราย เสียหายรวมกันหลายพันล้านบาท

คดีนี้สืบเนื่องจาก Zipmex ซึ่งเคยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้กระทำการที่ก่อความเสียหายต่อนักลงทุน ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้พบการกระทำความผิดหลายกรณีและได้กล่าวโทษจำเลยไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีอาญา อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของ Zipmex ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2567

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษาสำนักกฎหมาย VLA ผู้รับมอบอำนาจจากกลุ่มร่วมสู้ Zipmex เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีผู้เสียหายกว่า 400 ราย มอบอำนาจให้ตนเตรียมยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้องกับ Zipmex โดยทางกลุ่มจะมีตัวแทนโจทก์ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่ม (consumer class action) เพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้องในศาลไทย และทางกลุ่มได้ว่าจ้างนักกฎหมายในต่างประเทศเพื่อศึกษาช่องทางการเอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในต่างประเทศไปพร้อมกันด้วย

ขณะที่ ตัวแทนผู้เสียหายและผู้ประสานงานกลุ่มร่วมสู้ Zipmex ระบุว่า การฟ้องคดีแบบกลุ่ม (class action) จะเป็นที่พึ่งให้ผู้เสียหายที่ไม่สามารถว่าจ้างทนายขึ้นศาลดำเนินคดีกับ Zipmex ด้วยตนเอง เพราะสามารถส่งผลดีต่อผู้เสียหายทุกราย และไม่ว่าผลคำตัดสินในคดีอาญาที่ประชาชนฟ้องไปก่อนจะออกมาอย่างไร กลุ่มจะเดินหน้ารวบรวมหลักฐานทั้งในและต่างประเทศเพื่อยื่นฟ้องคดีแพ่งและประสานงานใกล้ชิดกับทาง สำนักงาน ก.ล.ต. และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้เกิดการดำเนินคดีอาญาแผ่นดินโดยภาครัฐไปพร้อมกันด้วย

อีกทั้งวิงวอนขอให้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ตลอดจนกรมสอบสวนคดีพิเศษช่วยเร่งหาข้อสรุปเพื่อดำเนินคดีอาญาให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมโดยเร็วที่สุด

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top