“จุลพันธ์” ลั่นแก้กม.เปิดทางต่างชาติถือครองที่ดิน ไม่ใช่นโยบายขายชาติ รอผลศึกษารอบด้าน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงกรณีข้อวิจารณ์หลังรัฐบาลมีแนวคิดจะปรับแก้ไขกฎหมายให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้นานขึ้นจาก 50 ปี เป็น 99 ปี และการถือกรรมสิทธิ์ห้องชุด เพิ่มสัดส่วนจาก 49% เป็น 75% ว่า เรื่องนี้เป็นแนวคิดหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการหมุนเวียนมากขึ้น แนวคิดนี้ไม่กระทบเรื่องอาณาเขต สิทธิสภาพบนพื้นดินของคนไทย ยืนยันว่าไม่ได้เป็นนโยบายขายชาติ เพราะพื้นที่ สิทธิสภาพ สิทธิอาณาเขตบนพื้นดินของไทยไม่ได้หายไป

พร้อมชี้แจงว่า แนวคิดดังกล่าวไม่ได้เป็นการให้สิทธิขาดกับต่างชาติ เพียงแต่เป็นการเปิดช่องให้มีกลไกในการที่จะจูงใจให้มีการเข้ามาถือครองมากขึ้น แต่ไม่ได้มอบสิทธิในการออกเสียงของนิติบุคคล ไม่ใช่ว่าต่างชาติเข้ามาถือครองแล้ว จะเปลี่ยนสภาพจากห้องชุดเป็นโรงแรม หรือเป็นอาคารประเภทอื่นได้

สำหรับการให้ต่างชาติข้ามาบางส่วน จะมีประโยชน์ในเรื่องการถ่ายโอนองค์ความรู้ และมองว่าปัจจุบันการกระตุ้นการลงทุน และการจ้างงานในประเทศก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเชื่อว่าจะไม่ได้มีผลกระทบต่ออัตราการจ้างงานของคนไทยแต่อย่างใด

นายจุลพันธ์ กล่าวถึงการให้สิทธิในการเช่ากับคนต่างชาติด้วยว่า ปัจจุบันก็มีการดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว ที่ 30 ปี บางพื้นที่ที่มีกฎหมายพิเศษ ก็อยู่ที่ 50 ปี และต่อได้อีก 50 ปี ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร เพียงแต่เป็นการเปิดช่องให้มีกลไกในการจูงใจให้มีการเข้ามาถือครองได้

“อย่างที่นายกรัฐมนตรีได้เคยพูด เราต้องยอมรับความจริงว่า ในสภาพปัจจุบันก็มีต่างชาติที่มีการถือครองที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือถือครองเกินกว่า 49% โดยใช้รูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นการหลบเลี่ยงอยู่แล้วส่วนหนึ่ง ก็ต้องยอมรับตามจริงว่ามี และต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เป็นโลกไร้พรมแดน และทุกคนเป็นพลเมืองของโลก และสำหรับประเทศไทย เราต้องการสร้างให้เป็นพื้นที่ระดับโลก หมายความว่ามีการดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยว และคนต่างชาติที่มีทักษะจำเพาะ เพื่อที่จะมาพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ เราจะเป็นต้องเปิดรับการลงทุน เช่น เรื่อง Data Center เซมิคอนดักเตอร์ จุดต่าง ๆ เหล่านี้ท้ายที่สุดจะมีความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเราจำเป็นจะต้องเปิดกว้างให้มีการพัฒนา” นายจุลพันธ์ กล่าว

รมช.คลัง กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของกระทรวงมหาดไทย ที่จะต้องไปศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงการคลัง ดังนั้นข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องต่าง ๆ จึงต้องรอการศึกษาให้เรียบร้อยก่อนว่าแนวคิดดังกล่าวมีผลรอบด้านอย่างไร ค่อยกลับมาสรุปกันอีกครั้ง เพื่อเสนอกลับเข้าไปให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

อย่างไรก็ดี มองว่า ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย ไม่ได้มีปัญหาเรื่องราคาแพงหรือไม่แพง แต่ปัญหา คือ เริ่มเห็นอาการของการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่งส่งผลทำให้ซัพพลายที่มีอยู่ในตลาด ไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายโอนได้ ดังนั้นกลไกนี้ นอกจากเรื่องการกระตุ้นแล้ว ยังต้องมาดูเรื่องการให้คนไทยหรือใครก็ตามสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเพียงพอ ที่จะเข้าไปถือครองอสังหาริมทรัพย์ได้ด้วย ไม่อยากให้มองเพียงแค่จุดเดียว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มิ.ย. 67)

Tags: ,
Back to Top