ครม. รับทราบผลแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ปี 67 กำหนด KPI รายจังหวัด

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบและเห็นชอบรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.66 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการ ตามที่ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ

โดยที่ ก.พ.ร. รายงานว่าได้พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดให้การลด หรือการควบคุมปริมาณการปล่อยมลพิษทางอากาศ (PM2.5) เป็นตัวชี้วัด (KPIs) ที่สำคัญของแต่ละจังหวัด โดยนำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบมาเป็นกรอบในการพิจารณา สรุปได้ดังนี้

1. จังหวัดเป้าหมายตามมาตรการฯ ที่สามารถกำหนดให้มีการประเมินตัวชี้วัดค่าเฉลี่ยรายปี ของปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตาม Joint KPIs ภายใต้ Agenda ประเด็นที่ 5 การลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 39 จังหวัด โดยแบ่งเป็น

– จังหวัดเป้าหมายที่ดำเนินการกำหนดเป็นตัวชี้วัดอยู่แล้ว จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม

– จังหวัดเป้าหมายที่กำหนดตัวชี้วัดในการประเมินเพิ่มเติม จำนวน 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา เลย หนองคาย อุบลราชธานี นครพนม เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี บุรีรัมย์ มุกดาหาร สกลนคร และอุดรธานี

2. จังหวัดเป้าหมายที่จะนำมากำหนดให้มีการประเมินตัวชี้วัดดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 15 จังหวัด เนื่องจากมีการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในระหว่างปี 2567 ทำให้มีข้อมูลไม่ครบรอบปี ที่จะนำมาใช้ในการประเมินตามตัวชี้วัดค่าเฉลี่ยรายปีของปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) หรือยังไม่มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ดังนี้

– จังหวัดเป้าหมายที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแล้ว แต่ข้อมูลยังไม่เพียงพอ จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ สิงห์บุรี นครนายก บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ และศรีสะเกษ

– จังหวัดเป้าหมายที่ยังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท อ่างทอง เพชรบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และหนองบัวลำภู

3. ข้อเสนอแนะให้กรมควบคุมมลพิษ ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ สำหรับจังหวัดที่ยังไม่ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศให้แล้วเสร็จ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดค่าเป้าหมายสำหรับใช้ประเมินในปีถัดไป

4. ประโยชน์ของการจัดการเพื่อดูแลปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่จังหวัด จะช่วยลดต้นทุนการสร้างความเสียหายต่อคุณภาพดิน น้ำ และการเติบโตของสิ่งมีชีวิตในป่า รวมทั้งความหลากหลายด้านชีวภาพ ซึ่งสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล ในวิสัยทัศน์ที่ 3 ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) ในการยกระดับเกษตรกรรม ส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีรายได้มากขึ้น 3-4 เท่า พร้อมที่จะเข้าสู่การเป็นครัวของโลก

รวมทั้งจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากปัญหาฝุ่น PM2.5 เช่น ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว ที่เกิดจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวชาวต่าวชาติและชาวไทย ค่าเสียโอกาสที่เกิดจากปัญหาสุขภาพ จากการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ หรือค่าใช้จ่ายในการป้องกันมลพิษ และการสวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งอาจสร้างความเสียหายโดยรวมถึง 5,500-10,000 ล้านบาทต่อปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มิ.ย. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top