ครม.เคาะแก้กฎหมายลดค่าธรรมเนียมช่วยลูกหนี้คดีแพ่ง-ล้มละลาย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) ซึ่งเป็นการปรับลดค่าธรรมเนียมให้กับลูกหนี้ที่ถูกฟ้องคดีแพ่งและคดีล้มละลายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2548 ได้บังคับใช้มานานถึง 19 ปีแล้ว

โดยให้ลดภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีบางประการที่ไม่จำเป็น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการไม่สามารถชำระหนี้ได้ และยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น กำหนดค่าธรรมเนียมขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดเหลือ 2% ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย จากปัจจุบัน 3% ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย, กำหนดค่าธรรมเนียมจ่ายเงินที่ยึดหรืออายัดแก่เจ้าหนี้ 1% ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด จากปัจจุบัน 2% ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด รวมทั้งยกเลิกค่าธรรมเนียมเมื่อยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย จากปัจจุบัน 2% ของราคาทรัพย์สินที่ยึด

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในทุกระดับ ทำให้ลูกหนี้จำนวนมากอาจต้องตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และมีความรับผิดตามสัญญาหรือตามกฎหมายหลายประการ ส่งผลให้มีปริมาณการฟ้องร้องบังคับคดีเพิ่มมากขึ้น ทั้งคดีแพ่งและคดีล้มละลาย กรณีเป็นปัญหาความเป็นธรรมของประชาชนที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม สมควรต้องมีมาตรการชั่วคราวเพื่อบรรเทาโดยเร่งด่วน

ทั้งนี้ กรมบังคับคดีได้สำรวจข้อมูลจำนวนค่าธรรมเนียมประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 – 2567 (ข้อมูลถึงเดือน ม.ค.67) พบว่า ได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเงินทั้งสิ้น 6,842,907,178.19 บาท เมื่อคำนวณเฉพาะค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย และค่าธรรมเนียมยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่ร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดให้ยกเลิกคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 95,461,667.64 บาท คิดเป็น 1.40% ของค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีทั้งหมด และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเท่านั้น

“การลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวสามารถช่วยสนับสนุนให้คู่ความเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี อันเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในการเจรจาชำระหนี้ โดยลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะสามารถรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนไม่ให้ถูกขายทอดตลาดและสร้างความยุติธรรมแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรม” นายคารม กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มิ.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top