นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คุยกับเศรษฐา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกว่า การจัดรายการนี้เพื่อสื่อสารถึงประชาชนโดยตรงให้เข้าใจและรับรู้ว่ารัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง มีแผนงานระยะยาวอะไร ซึ่งรัฐบาล ทุก ๆ กระทรวง ทบวง กรม รัฐมนตรีทุกคนได้ทำงานกันหนักมาก
“ถ้าจะบอกว่าไม่เหนื่อยก็คงจะโกหก ผมว่านายกรัฐมนตรีทุกท่านก็ทำงานกันหนัก มีทั้งเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ และเชื่อว่าทุกท่านแบกภาระหนักหน่วงนี้อยู่เยอะ ซึ่งผมคงพูดแทนท่านอื่น ๆ ไม่ได้ ถ้าถามผมว่าเหนื่อยนอนคืนเดียวก็หาย แต่เราเสนอตัวเข้ามาทำงานทางด้านสาธารณชนแล้ว ถือว่าเรื่องที่สำคัญมากกว่าคือเรื่องของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เราเหนื่อยเท่าไร ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คน ที่อยู่ที่ฐานรากของสังคมเขาเหนื่อยเยอะกว่าเยอะ ชีวิตของผมเกือบสี่สิบปีตลอดระยะเวลาทำงานมา ผมยึดมั่นในสองวินัยนี้ คือมีวินัยในการทำงานและทำงานให้หนัก แต่แน่นอนว่าเรื่องของการดูแลสุขภาพ การพักผ่อนให้เพียงพอ พักผ่อนคือเรื่องของการหลับนอนก็ต้องให้เพียงพอ” นายเศรษฐา กล่าว
* ย้ำเป็นนายกฯ ของคนทั้งประเทศ มือใหม่ต้องลงพื้นที่บ่อย
ตนเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคหลัก และเป็นพรรคที่สนับสนุนตนเองมาตลอด ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องลงพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ของพรรคพลังประชารัฐ ของพรรคภูมิใจไทยเช่นกัน เพราะว่าทุกคนคือประชาชนคนไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศมีหน้าที่ต้องดูแล ขอให้ความมั่นใจว่าไม่ได้เลือกจังหวัดลงพื้นที่ และที่ลงพื้นที่ต่างจังหวัดบ่อย เพราะมีต้นทุนน้อยกว่านักการเมืองที่เติบโตมาจากการเมืองตั้งแต่อายุยังน้อย ขณะที่ตนเพิ่งเข้าสู่สนามการเมือง ดังนั้นการลงพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับมือใหม่อย่างตน เพราะไม่ได้ไปคลุกคลีกับประชาชนเท่ากับนักการเมืองที่อยู่ในการเมืองมานาน การลงพื้นที่เยอะเพราะต้องการเข้าใจถึงปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่ฟังแต่รายงานจากกระดาษ
* เสริมศักยภาพ “ภูเก็ต” สร้างรายได้ท่องเที่ยว
การลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเรือธงของรัฐบาลคือเรื่องการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ทำรายได้สูงมากให้กับประเทศ และมีศักยภาพสูงมาก ๆ โดยพบว่ามีปัญหาเยอะ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องน้ำประปา เรื่องขยะ เรื่องสนามบิน เรื่องถนน เรื่องมาเฟีย เรื่องความมั่นคงความปลอดภัยที่ต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
สัปดาห์แรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ลงไปจังหวัดภูเก็ต เชิญ รมว.คมนาคมไปดูเรื่องการจราจร ซึ่งระยะหลังจากในเมืองไปสนามบินใช้เวลา 2 ชั่วโมง ทำให้เสน่ห์ของภูเก็ตหายไปหมด ส่วนเรื่องน้ำประปาก็ลงพื้นที่ไปกับ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ไปดูเรื่องน้ำประปาที่ส่งมาจากเขื่อนเชี่ยวหลานมาใช้ในจังหวัดพังงา กระบี่ ภูเก็ต รวมทั้งเรื่องของสนามบินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันเครื่องบินต่อชั่วโมงลงได้ 25 ลำ จะให้มากกว่านี้ก็ลำบาก ขณะที่มีความต้องการลงสูงมาก แต่จริง ๆ แล้วภาคใต้ไม่ได้มีแค่ภูเก็ต มีพังงา มีกระบี่ มีระนองด้วย ถึงแม้สนามบินใหม่จะไปตั้งตอนเหนือของภูเก็ต หรือส่วนหนึ่งของจังหวัดพังงาที่อยากให้ตั้งชื่อว่าสนามบินอันดามัน เพราะพยายามจะให้ครอบคลุมให้ได้ 3-4 จังหวัด
* ลงพื้นที่โดยไม่แจ้งล่วงหน้าเพื่อรับรู้ปัญหาที่แท้จริง
การไปสนามบินสุวรรณภูมิโดยไม่ได้บอกล่วงหน้า เพราะนโยบาย Aviation Hub เป็นอีกหนึ่งนโยบายเรือธงของรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิเคยเป็นสนามบินระดับท็อป ๆ ของโลกแต่อันดับตกไปเยอะมาก เพราะไม่มีการลงทุนในแง่โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เลยในช่วงเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปได้ โซนหนึ่งเพิ่งเปิด โซนสองเพิ่งเปิด รันเวย์สามก็จะเปิด จะมีการขยายออกไปซึ่งถือเป็นเรื่องของอนาคต แต่ต้องอยู่กับปัจจุบันก่อนด้วยเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามาอย่างมโหฬาร การเดินทางก้าวแรกที่เข้ามาเหยียบแผ่นดินไทยเขาต้องมีความสุข ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการตรวจคนเข้าเมือง ต้องไม่เข้าคิวนาน เรื่องกระเป๋า เรื่องแท็กซี่ที่มารับ ซึ่งได้คุยกับผู้รับผิดชอบเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา
“ถ้าผมไปโดยที่ไม่บอกล่วงหน้าจะได้ไปดูให้เห็นจริง ๆ ความลำบากคืออะไร คิวยาวเหยียดตั้งแต่บันไดวนลงมาเป็นตัวงู และไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นต้องลงไปแบบไม่บอกล่วงหน้าจะได้ไม่มีการเตรียมการดีกว่า ใช้คำนี้ดีกว่า ไม่ได้ไปจับผิด แต่ว่าเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งก่อนที่ผมจะมาเป็นนักการเมือง บริษัทเก่าก็ทำอย่างนี้ เวลาไปตรวจงานก็จะไปแบบไม่มีการประกาศล่วงหน้า จะได้เห็นสถานภาพที่จริงมากกว่า แล้วมาแก้ไขปัญหากัน” นายเศรษฐา กล่าว
สนามบินสุวรรณภูมิยังสามารถพัฒนาได้อีก และขณะนี้ได้พัฒนาดีขึ้นเยอะ เพราะ KPI ที่ให้ไป ไม่ว่าจะเป็น ก้าวแรกที่ลงจากเครื่องบินต้องได้รับกระเป๋าเดินทางภายใน 45 นาที หรือไม่เกินหนึ่งชั่วโมง และขากลับจากที่เช็คอินตั๋วเพื่อเข้าไปข้างในต้องไม่เกิน 45 นาทีเหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันก็ทำได้ ซึ่งได้นำเครื่องอัตโนมัติในการตรวจสอบมาใช้ การบริหารจัดการพนักงาน
แนวทางการทำงานตอนเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนกับเป็นนายกรัฐมนตรีต่างกัน สภาพแวดล้อมต่างกันพอสมควร ในภาคเอกชนจะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจแตกต่างกันออกไป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาครัฐบาลมีเยอะกว่า เพราะฉะนั้นต้องดูให้ครบทุกหมู่เหล่าจริง ๆ เรื่องของความระมัดระวัง ขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำงานก็มีกลไกทางราชการ ซึ่งต้องให้เคารพ มีองค์กรอิสระตรวจสอบเยอะ เราต้องมั่นใจว่า ทุกอย่าง ทุกการกระทำของเราถูกต้อง เป็นไปตามกฎระเบียบ แต่ตนมองว่าความเดือดร้อนไม่คอยท่า ต้องการบริหารจัดการออกไป แต่ระหว่างทางก่อนที่จะมีอะไร ก็อาจจะมีมาตรการระยะสั้น หรือชั่วคราว ที่พยุงปัญหาไปได้บ้าง บางทีปัญหาก็ไม่สามารถแก้ได้ด้วยอะไรที่รวดเร็วทันใจอย่างเดียว ซึ่งมีหลายขั้นตอน เพราะเป็นระบบราชการ ซึ่งถ้าเรามาอยู่ตรงนี้เราก็ต้องยอมรับตรงนี้
* ครม.สัญจร สร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่
การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ไม่ได้เป็นความลับอะไร ตนเชื่อว่านายกรัฐมนตรีหลาย ๆ ท่านก็ทำอยู่แล้ว แต่รายละเอียดแตกต่างกันไป การที่ ครม.ทั้งคณะลงไปจังหวัดไหน พื้นที่ไหน เชื่อว่าจะมีการตื่นตัว อย่าง ครม.สัญจรนัดแรกที่ไปจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นจังหวัดที่ GDP ต่ำที่สุด เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุด ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลให้ความสนใจกับเรื่องนี้ การที่ลงพื้นที่ต่างจังหวัด จังหวัดข้างเคียงก็มีความสำคัญ เพราะรู้อยู่แล้วว่าทุก ๆ จังหวัดมีความต้องการความช่วยเหลือในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือเรื่องการเกษตร เรื่องน้ำ น้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นต้น
การลงพื้นที่ถือเป็นการมอบอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ ทำให้มีความมั่นใจขึ้น ทั้ง ครม. ทุกกระทรวง ทบวง กรม มีการกำหนด KPI ชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง และเป็นการสร้างความคาดหวังให้ประชาชนในครั้งต่อไปที่จะไป ครม.สัญจรว่า ถ้า ครม.มา จังหวัดข้างเคียงจะได้อานิสงส์อะไรบ้าง ทั้งนี้ การลงพื้นที่แต่ครั้งต้องแบ่งเป้าหมายเป็น 2-3 อย่าง หนึ่งในแง่ของมวลชน ต้องมีการพบปะมวลชน เพราะต้องการจะได้เห็นจริง ๆ ว่า ในสายตาของเขามีความทุกข์ยากมากน้อยขนาดไหน บางเรื่องที่เขาร้องเรียนมาแล้ว ตนเองไม่ได้ยิน เพราะถูกคัดกรองออกไป
“ผมอยากไปได้ยินเองเวลาไปลงพื้นที่ว่าเขาพูดเรื่องอะไรกันบ้าง ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะรับฟังได้โดยตรง โดยไม่มีการกีดกันเลย การได้พบข้าราชการก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะไม่ฉะนั้นโอกาสที่จะได้พบกับข้าราชการฝ่ายปกครองก็น้อย ได้พบกับนายอำเภอ ได้พบกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่าง ๆ ผมเชื่อว่าเป็นอะไรที่ให้ความรู้กับทั้งกับตนเอง และรัฐมนตรีหลาย ๆ ท่าน ในหลาย ๆ เรื่อง” นายเศรษฐา กล่าว
* บินไปนอกเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไปบ่อยนั้น ตนได้ไปต่างประเทศรวม 15 ครั้ง กว่าครึ่งเป็นการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ ได้แก่ ไปร่วมประชุมอาเซียน-เจแปน ไปแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ไปประชุมอาเซียน-เจแปนครบ 50 ปี ซึ่งจะไม่ไปนั้นไม่ได้ หรืออย่างไปศรีลังกาเพื่อเซ็นสัญญา FTA ซึ่งรัฐบาลเดิมทำไว้แล้ว ก็ไปเป็นเกียรติ ไปงานลงนาม ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในรัฐบาลก่อน เรื่องลำดับความสำคัญอาจจะทำเรื่องอื่น แต่ตอนนี้เรื่องการค้าระหว่างประเทศ เรื่องความเปราะบางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การลงทุนข้ามชาติมาที่ประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่ไปเชื้อเชิญและไปบอกเขาว่าประเทศไทยเปิดแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่จะดีเท่าเวลานี้ที่มาลงทุนที่ประเทศไทย เขาจะทราบไหม
“ผมว่าต้องไป แล้วการลงทุนกลับมาแต่ละครั้งเป็นหมื่นล้านเป็นแสนล้าน ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่เกิดขึ้น อาจจะอยู่ขั้นตอนการพิจารณา บางอันก็จะเกิด บางอันเกิดแน่ ๆ บางอันก็ไม่แน่ว่าจะเกิด หรือบางอันก็ไม่เกิดก็มี แต่ว่าการทำงานเราต้องทำทั้งหมดทุกประเทศ เราต้องไปทุกบริษัทที่เขามีศักยภาพมาลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่ของผมในฐานะนายกรัฐมนตรี” นายเศรษฐา กล่าว
การประชุมกับผู้นำและภาคเอกชนเวลาไปเมืองนอกต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า เข้าใจว่าประวัติสูงสุดในประวัติศาสตร์คือที่ดาวอส ซึ่งจะมี 19 หรือ 23 วงในวันเดียว ถือว่าเยอะมาก แต่ตนบอกกับทีมว่า ถ้าไปปีหน้า ถ้ามีห้องประจำของเราเองสองห้อง แล้วก็สลับเข้าสลับออก ตนว่า 30 วงน่าจะทำได้ ทั้งนี้ 12 ปีที่ผ่านมาไม่มีผู้นำของเราไป World Economic Forum มาเลย พอเราไป คนก็ให้ความสนใจ อย่างที่ไปมาก็ AstraZeneca บริษัททำยา ซึ่งเข้าหุ้นกับปูนซีเมนต์ไทย
“ผลการไปต่างประเทศโดยรวมแล้วเป็นบวกมากเพราะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการลงทุน บางเรื่องได้รับการประสานงานร่วมกันระหว่างผู้แทนการค้าไทย บีโอไอ และหลาย ๆ หน่วยงาน รวมถึงสถานทูตไทยได้เชิญชวนกันไปโฆษณาว่าประเทศไทยมีอะไรดี ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด เราพร้อม Incentive จากบีโอไอ เรามีเหนือกว่าประเทศอื่น เรามีรอยยิ้ม เรามีค่าครองชีพที่เหมาะสม เรามีโรงเรียนนานาชาติที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เรามี Health care system ที่มีมาตรฐานสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศ นักลงทุนจากต่างประเทศที่เขาจะย้ายถิ่นฐานมาเขามีความมั่นใจ เรื่องของการที่เรามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเยอะ ทำให้เขาเมื่อมาลงทุนแล้วเขามั่นใจว่าที่นี่มั่นคง” นายเศรษฐา กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงจุดยืนการทูตของไทยว่า เราไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศไหน ที่ตนเดินทางไปต่างประเทศมาจากการลงทุน จาก EU หรือจากออสเตรเลีย หรือจากจีน หรือจากสหรัฐอเมริกา ทุกประเทศอยากมาลงทุนประเทศไทย ถึงแม้จะมีคู่ขัดแย้งกันเองก็ตามที เพราะเขามั่นใจว่าประเทศไทยจะให้ความเป็นธรรมกับทุก ๆ ฝ่าย ถ้าเกิดมีปัญหาเกิดขึ้น ฐานผลิตของเขา Supply chain ของเขาไม่ถูกขัด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะฉะนั้นทุกคนก็ให้ความมั่นใจกับประเทศไทย
“เป็นที่มาที่ไปว่าทำไมเราจึงอยากเป็น Aviation Hub ขยายสนามบินสุวรรณภูมิจาก 60 ล้านคนให้เพิ่มเป็น 150 ล้านคน สร้างเทอร์มินัล สร้างรันเวย์เพิ่ม แลนด์บริดจ์ทำไมเราจึงอยากมีแลนด์บริดจ์ในการขนส่ง ไม่ใช่แค่ประหยัดระยะทางที่ลงไปช่องแคบมะละกาอย่างเดียว หรือประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างเดียว ในอนาคตถ้าเกิดมีคู่ขัดแย้งเยอะ แล้วประเทศที่ควบคุมโลจิสติกส์การเดินทางทั้งหลาย ไม่เป็นกลาง ใครทะเลาะกับใคร ใครจะเข้าข้างใครก็ทำให้เส้นทางการขนถ่ายสินค้าเขามีปัญหา แต่ถ้าเกิดว่าเราเป็นประเทศเป็นกลาง อย่างไรเสียเขามั่นใจว่าการดูแลการขนถ่ายสินค้าของทุก ๆ ประเทศจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ผมเชื่อว่าการตัดสินใจมาลงทุนของเขาก็จะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว
การเดินทางไปต่างประเทศเพื่อแนะนำตนเอง และที่สำคัญคือนำมาซึ่งความมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย จากการลงทุนที่ต่างชาติเขาจะมาขยายการลงทุนที่ประเทศไทย แต่ว่าทุก ๆ อย่างใช้เวลา อย่างเช่น เราจะ Move จากอุตสาหกรรมที่มีกำไรน้อยไปสู่อุตสาหกรรมกำไรสูง Low tech เป็น High tech Industry ไม่ได้สร้างได้ภายในวันเดียว ต้องมีวิธีการหลาย ๆ อย่าง เช่น การตัดสินใจในการซื้อที่ดิน งบลงทุน อะไรต่าง ๆ นานา ตนเชื่อว่ามีอะไรต้องทำควบคู่กันไป
“เร็ว ๆ นี้จะไปประชุมกับรัฐมนตรี อว.เรื่องยกระดับ Skillsets ของ Worker ไทย เรื่องของการที่สถาบันอุดมศึกษาของไทยมี Arrangement กับบริษัทยักษ์ใหญ่ มี Training program แทนที่จะเทรนกันแค่สามเดือน เขาขอร้องให้ อว. ออกมาเลย เทรนมาเลยเก้าเดือน ปีหนึ่ง แล้วก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Curriculum ด้วย เวลาจบไปก็จะได้ทำงานต่อได้เลย ทีนี้ก็พยายามพูดคุยกันต่อ มีเรื่องของรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราต้องคุยกันเยอะ” นายเศรษฐา กล่าว
* เปรียบไทยเป็นรถเฟอร์รารี่ที่ยังวิ่งไม่เต็ม 12 สูบ
ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมาก แต่ขณะนี้เหมือนรถที่ยังไม่วิ่งเต็มสูบ เหมือน Ferrari 12 สูบ แต่วิ่งอยู่แค่ 6-7 สูบเท่านั้น แล้ว 6-7 สูบก็เดินหน้ากันเต็มที่ แต่ต้องค่อย ๆ ทำกันไป เพราะไม่ใช่ทำเองได้ ตัดสินใจภายในคนเดียวได้ มีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล มีฝ่ายตรวจสอบ มีทั้งรัฐสภา มีทั้งข้าราชการ มีทั้งเอ็นจีโอ ซึ่งในหลาย ๆ Initiatives ก็เป็น Initiatives ที่อาจจะมีคนแย้งบ้าง ต้องทำเรื่องประชาพิจารณ์ เป็นอะไรที่มีคนมีข้อกังขาเหมือนกัน เช่น ทุกคนบ่นเรื่องค่าไฟแพง ค่าไฟที่ถูกที่สุดคือพลังงานนิวเคลียร์ พูดมาตรงนี้ทุกคนก็บอกว่าอยากได้หมด แต่ว่าอย่ามาอยู่บ้านฉันนะ ไปอยู่บ้านคนอื่นก็แล้วกัน ตนก็เริ่มต้นทำการค้นคว้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่านี่คือเรื่องที่เรากำลังดูอยู่ และก็มีหลาย ๆ เรื่อง เช่น Entertainment complex ซึ่งเป็นธุรกิจสีเทาดำ อยู่ใต้ดินเป็นล้านล้าน เราจะยอมให้มีธุรกิจแบบนี้อยู่ต่อไปหรือ หรือเราจะยกมาบนดิน ก็ยอมรับไปแล้วก็เก็บภาษีให้ถูกต้อง และควบคุมด้วยความประพฤติ ควบคุมเรื่องอาชญากรรมได้ ตนเองคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่ประเทศต้องยอมรับเรื่องพวกนี้ ประเทศอื่นเขาก็มีแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มิ.ย. 67)
Tags: คุยกับเศรษฐา, เศรษฐา ทวีสิน