จากกรณีปัญหาความขัดแย้งในวงการตำรวจระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีต้นเหตุมาจาก 3 เรื่องใหญ่ คือ ยาเสพติด พนันออนไลน์ และหนี้นอกระบบ ที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย
นายกรัฐมนตรี จึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อประมวลเรื่องราวว่ามีความเป็นมาอย่างไรเพื่อจะได้แก้ไขต่อไปในอนาคต โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้ตั้งอนุคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด และได้สอบพยานหลายคนกว่า 50 คน รวมถึงสอบสวนคู่กรณี ใช้เวลา 4 เดือน
นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อมูลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธานตรวจสอบ สรุปว่าการรายงานเป็นการตรวจสอบข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง ไม่ได้ชี้ว่าใครถูกใครผิด โดยพบว่ามีความขัดแย้งและความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจริง และมีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง กลาง เล็ก ทุกระดับทุกฝ่าย
ในส่วนคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และทีมงานใต้บังคับบัญชาทั้ง 2 ฝ่าย เช่น คดี 140 ล้านบาท หรือเป้รักผู้การเท่าไหร่, คดีกำนันนก, คดีเว็ปพนันออนไลน์มินนี่ และเว็บพนันออนไลน์บีเอ็นเค และยังมีคดีย่อยแยกไปอีก 10 คดี ที่กระจายไปตามสถานีตำรวจ และอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้ง สน. และในส่วนกลาง ต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ บางเรื่องส่งให้กับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตำรวจ อัยการ และศาลดำเนินการไปตามขั้นตอนปกติ บางเรื่องเกี่ยวพันกับกระบวนการนอกกระบวนการยุติธรรม เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่รับไปดำเนินการแล้ว โดยมีเจ้าของคดีรับดำเนินการแล้วทั้งสิ้น ไม่มีตกค้างอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นายกฯ ได้รับทราบรายงานนี้ทั้งหมดแล้ว และได้มีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปดำรงตำแหน่งผบ.ตร. ตามหน้าที่เดิม เนื่องจาก ป.ป.ช. ไม่มีข้อที่ต้องสอบสวนแล้ว ซึ่งการสอบข้อเท็จจริงและการสอบสวน หรือทิศทางคดีนั้น จะดำเนินไปตามสายงานเดิมของกระบวนการทางกฎหมายต่อไป ส่วนจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ
นายวิษณุ กล่าวว่า การที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ใช่เป็นการล้างมลทิน คดียังเดินหน้าตามปกติ โดยคดีที่อยู่ใน ป.ป.ช.ก็ยังต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป กรณีนี้จะต้องมีข้อยุติว่าใครถูกใครผิด และต้องดำเนินคดีเหมือนกับบุคคลธรรมดาทั่วไป ทั้งนี้การนำบุคคลทั้ง 2 ออกมาจาก สตช.ก่อน เพื่อตรวจสอบวินัยและคดีต่าง ๆ จนนำไปสู่การแก้ไข ในอนาคต และไม่อีกกี่เดือนคงจะหา ผบ.ตร.คนใหม่แล้ว
ส่วนกรณีสถานภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการนำความกราบบังคมทูลให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งก่อนถึงขั้นตอนนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต้องตรวจสอบว่าได้ทำถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่
ส่วน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะยังมีโอกาสได้รับพิจารณาในการเป็น ผบ.ตร.หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า สถานะของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อยู่ในระหว่างให้ออกจากราชการไว้ก่อน แต่ขั้นตอนยังไม่สมบูรณ์ เพราะกระบวนการยังไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ใครที่เป็นรอง ผบ.ตร. ก็มีโอกาสได้รับพิจารณาขึ้นเป็น ผบ.ตร.ได้ทั้งนั้น และในกฎหมายตำรวจได้เขียนไว้ว่า ไม่ให้นำสาเหตุนี้มากำหนดไม่ให้บุคคลได้รับการพิจารณาในการดำรงตำแหน่ง พร้อมกับย้ำว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังมีโอกาสลุ้นตำแหน่ง ผบ.ตร.
“เรื่องนี้ไม่ใช่การฟอกขาว และไม่มีการฟอกขาว แต่ให้ทั้งคู่กลับไปทำหน้าที่ของตัวเองตามที่รับผิดชอบ อย่าวอกแวก ส่วนคดีในป.ป.ช. และหน่วยงานอื่นก็ไปต่อสู้คดีกันไป” นายวิษณุ กล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานว่าในวันนี้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จะไม่เข้ามาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนในวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จะเข้ามาหรือไม่ เพราะยังไม่ปรากฎคำสั่งการให้ข้าราชการตำรวจกลับไปปฎิบัติราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะต้องลงนามโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการเร่งปรับภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ คาดว่าเพื่อเป็นการต้อนรับการกลับมาปฏิบัติหน้าที่ของ ผบ.ตร.
สำหรับบริเวณชั้น 4 อาคาร 1 ซึ่งเป็นสำนักงานของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าแต่อย่างใด ส่วนบริเวณสำนักงานรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นห้องทำงานของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อยู่บริเวณชั้น 1 อาคาร 1 ส่วนหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่มีการติดป้ายชื่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ แต่อย่างใด ส่วนบริเวณลานจอดรถด้านหลังอาคาร 1 ยังมีป้ายชื่อของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เหมือนเดิม เนื่องจากไม่ได้มีการนำป้ายออกตั้งแต่ต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 67)
Tags: ต่อศักดิ์ สุขวิมล, ผบ.ตร., ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, วิษณุ เครืองาม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สุรเชษฐ์ หักพาล