เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขอินเดียเปิดเผยว่า มีผู้ป่วยที่อาจเป็นโรคลมแดดมากกว่า 40,000 รายในช่วงฤดูร้อนนี้ และมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนที่ยืดเยื้อแล้วกว่า 100 รายทั่วประเทศ ในขณะที่พื้นที่บางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียกำลังเผชิญน้ำท่วมที่เกิดจากฝนตกหนัก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้คนหลายพันล้านคนทั่วเอเชียกำลังเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดในฤดูร้อนนี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ อุณหภูมิทางตอนเหนือของอินเดียพุ่งสูงแตะเกือบ 50 องศาเซลเซียส (122 องศาฟาเรนไฮต์) ท่ามกลางหนึ่งในคลื่นความร้อนที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ประเทศเริ่มบันทึกรายงานสภาพอากาศ
นกจำนวนมากตกลงมาจากท้องฟ้าเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และโรงพยาบาลรายงานว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อน ท่ามกลางอุณหภูมิที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มต้นฤดูร้อนในเดือนมี.ค.
กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งให้สถาบันของรัฐบาลกลางและสถาบันของรัฐจัดลำดับความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยในทันที ขณะที่โรงพยาบาลในกรุงเดลีซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ก็ได้รับคำสั่งให้เพิ่มความจุเตียง
เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า มีผู้ป่วยที่อาจเป็นโรคลมแดดมากกว่า 40,000 รายในช่วงฤดูร้อนนี้ และมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 110 รายระหว่างวันที่ 1 มี.ค. – 18 มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่อินเดียตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเผชิญกับจำนวนวันที่มีคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในเดือนนี้ อุณหภูมิจะสูงกว่าปกติเช่นกัน โดยทางการระบุว่า เมืองต่างๆ ในอินเดียกลายเป็นเมืองที่เก็บกักความร้อน (heat trap) ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตที่ไม่สมดุล
“ในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อนอย่างต่อเนื่อง เราได้รับโทรศัพท์ให้ไปช่วยเหลือนกมากที่สุด เนื่องจากมีนกจำนวนมากตกลงมาจากท้องฟ้า โดยในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ไวด์ไลฟ์ เอสโอเอส (Wildlife SOS) ได้รับการติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือมากกว่า 35-40 สายทุกวันทั้งในและรอบเขตกรุงเดลี โดยสายส่วนใหญ่นั้นเป็นการร้องขอให้ช่วยเหลือนก” คาร์ติค สัตยานารายัน ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของไวด์ไลฟ์ เอสโอเอส องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 67)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, คลื่นความร้อน, น้ำท่วม, ผู้เสียชีวิต, ฝนตกหนัก, อินเดีย, ฮีทสโตรก, โรคลมแดด