Power of The Act: บริษัทจดทะเบียนควรซื้อใบผลิตพลังงานหมุนเวียนกี่ใบ ?

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเป็นวิทยากรในงานอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence หรือ “HRDD”) ภายใต้โครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย (ระยะที่ 3) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในส่วนของการบริหารจัดการพลังงาน (งานอบรมเชิงปฏิบัติการ HRDD) นั้น บริษัทจดทะเบียนควรมีนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างเคารพสิ่งแวดล้อม

โดยสารัตถะแล้ว HRDD มีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรธุรกิจ (Business Enterprise) ได้ทราบถึงสถานะของการดำเนินงานขององค์กรตนเองและตลอดห่วงโซ่คุณค่าอันจะทำให้องค์กรธุรกิจสามารถระบุ ป้องกัน บรรเทา และจัดการกับผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจได้ หนึ่งในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

คำถามที่เกิดขึ้น คือ การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนมีความเกี่ยวข้องกับ HRDD อย่างไร การใช้ไฟฟ้าดังกล่าวจะเรียกได้หรือไม่ว่าบริษัทจดทะเบียนมีการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน และหากบริษัทจดทะเบียนมิได้ผลิตหรือรับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนแต่เพียงซื้อ “ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC)” มาเท่านั้น กรณีนี้บริษัทจดทะเบียนจะสามารถพูดว่า ตัวเองลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรได้หรือไม่ หากว่า “ได้” ควรจะซื้อ REC กี่ใบ การซื้อดังกล่าวจะซื้อผ่านสัญญาอะไร หากว่าซื้อ REC เท่าจำนวนไฟฟ้าที่ใช้ในองค์กรจะถือว่าบริษัทไม่ได้มีการปล่อยคาร์บอนทั้งสิ้นหรือไม่ ?

  • HRDD กับการบริหารจัดการด้านพลังงาน

ตามแนวทางการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านสำหรับบริษัทจดทะเบียนซึ่ง ก.ล.ต. และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น การตรวจสอบสถานะด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านนั้น ประกอบด้วยการตรวจสอบด้านการบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการขยะและของเสีย การบริหารจัดการพลังงาน การบริหารจัดการมลพิษ การบริหารจัดการวัตถุอันตราย การประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และการประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ

ในการบริหารจัดการพลังงาน บริษัทจดทะเบียนควรตรวจสอบและจัดให้มีมาตรการเพื่อ “ลดการใช้พลังงาน” เช่น การมีมาตรการประหยัดพลังงาน การทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ การมีนโยบายให้พนักงานแต่งกายให้เหมาะกับเมืองร้อนเพื่อลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ

นอกจากการลดการใช้พลังงานแล้ว บริษัทยังควรประเมินถึง “ประเภทของพลังงาน” ที่ใช้ในการประกอบกิจการอีกด้วย เช่น มีการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การใช้ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป และการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ การบริหารจัดการด้านพลังงานนั้นยังรวมไปถึงการจัดการพลังงานในฝั่งผู้ใช้ไฟฟ้าหรือการดำเนินการทางด้านความต้องการการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management) เช่น มีการใช้บริการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

คงจะไม่เป็นการยากหากบริษัทจดทะเบียนจะประกาศต่อสาธารณชนว่า บริษัทได้ลดการใช้พลังงานที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และให้ความสำคัญกับการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนส่งเสริมความยั่งยืนในการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตั้งคำถามว่า คำประกาศตามถ้อยคำดังกล่าวนี้ “วัดได้จริงและมีความน่าเชื่อถือเพียงใด ?” หากพูดว่าบริษัทได้ “ลดการใช้พลังงานที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” และได้ “เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด” ควรมีข้อสังสัยว่าการ “ลด” และ “เพิ่ม” นั้นคิดยังไง วัดจากปริมาณหรือตัวเลขใด ?

  • คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร

ในทางปฏิบัติ บริษัทจดทะเบียนหลาย ๆ แห่งที่เข้าร่วมในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ HRDD ได้ทำ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร” หรือที่เรียกกันว่า “CFO” (ซึ่งย่อมาจาก Carbon Footprint Organization) การกล่าวถึงคำว่า “CFO” ในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ HRDD นั้นเรียกได้ว่าเป็นคำที่เข้าใจกันโดยมิได้เป็นคำศัพท์ที่แปลกใหม่แต่ประการใด

โดยสารัตถะแล้ว CFO เป็นกระบวนการที่องค์กรนั้นตรวจวัด ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง วัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยพิจารณาจาก 3 ส่วนหลัก แบ่งเป็น SCOPE ดังนี้

SCOPE 1 เป็นการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางตรง (Direct Emissions) จากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักร การใช้พาหนะขององค์กร (ที่องค์กรเป็นเจ้าของเอง) การใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำเสีย การรั่วซึมหรือรั่วไหล จากกระบวนการหรือกิจกรรม เป็นต้น ซึ่งการตรวจวัดในทางปฏิบัติสามารถดำเนินการโดยดูปริมาณการใช้สารเคมีที่ใช้ในบิลหรือใบแจ้งหนี้ที่ทางบริษัทได้จัดซื้อ

ยกตัวอย่างเป็นกรณีสมมติ เช่น บริษัทที่มีโรงงานผลิตน้ำตาลทราย โดยที่การผลิตนั้นมีการเผากากอ้อยและมีการปล่อยน้ำเสีย การปล่อยมลพิษข้างต้นนับเป็นคาร์บอนฟุตพริ้นท์ SCOPE 1 ซึ่งสามารถวัดได้จากปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่ใช้ในเครื่องจักรที่ทำการเผาอ้อย (แต่หากเครื่องจักรในกระบวนการผลิตมีการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการเผาปริมาณการใช้เชื้อเพลิงจะไปปรากฎใน SCOPE 2 แทน) การวัดปริมาณการเผาและการปล่อยน้ำเสียนี้จะทำให้บริษัทได้มาซึ่ง “ข้อมูลกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Activity Data)”

SCOPE 2 เป็นการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) ได้แก่ การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ เป็นต้น ซึ่งในทางปฏิบัติการวัดปริมาณพลังงานไฟฟ้านั้นสามารถนับได้จากปริมาณหน่วยไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าที่จ่ายเป็นรายเดือนให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย

SCOPE 3 เป็นการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมด้านอื่น ๆ การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การเดินทางไปสัมมนานอกสถานที่ การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งทางปฏิบัติการเดินทางของพนักงานนั้นจะวัดโดยระยะทางการเดินทางของพนักงานจากต้นทางไปปลายทาง ทั้งไปและกลับ หรือวัดจากปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรากฏอยู่ในบิลน้ำมัน บริษัทสามารถประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการขนส่ง โดยวัดจากระยะทางในการขนส่ง หรือวัดจากปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรากฏอยู่ในบิลน้ำมัน

นอกจากนี้ มีสังเกตเพิ่มเติมว่า หากในการผลิตของบริษัทนั้นได้รับเอาอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาลจากอ้อยไฟไหม้ซึ่งรับซื้อมาจากเกษตรกรที่ขายอ้อยเพื่อให้บริษัทนำเอามาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลทราย กรณีนี้ ก็นับว่าเป็นคาร์บอนฟุตพริ้นท์ SCOPE 3 เนื่องจากเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นโดยอ้อมของบริษัทแห่งนี้อีกด้วย

เมื่อมีการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกข้างต้นแล้ว บริษัทต้องนำเอาข้อมูลกิจกรรมการคูณกับค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ผลคือบริษัทจะทราบถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรซึ่งสามารถนำมาตั้งเป็น “เส้นฐาน (Baseline)” กล่าวคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรที่มีการดำเนินงานปกติ (Business as Usual) ได้

หากบริษัทตามตัวอย่างนี้มี คาร์บอนฟุตพริ้นต์ SCOPE 1 จำนวน 5,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ SCOPE 2 จำนวน 75 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเกิดจากการใช้ไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายไฟฟ้าจากการใช้ไฟฟ้าจำนวน 150 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง (MWh) หากบริษัทต้องการใช้ REC ในการหักลบปริมาณการใช้ไฟฟ้าลง บริษัทสามารถซื้อ REC จากผู้ขาย REC ในตลาดได้ และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ SCOPE 3 จำนวน 5,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น บริษัทนี้จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 3 SCOPE ในจำนวน 10,075 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

  • ลดการใช้ไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้าสะอาดใช้เอง และซื้อไฟฟ้าสะอาดจากบุคคลอื่น

หากบริษัทที่มีโรงงานผลิตน้ำตาลทรายตามตัวอย่าง นำเอาระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System หรือ EMS) มาใช้จนทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงไป 20 MWh และทำสัญญาซื้อไฟฟ้า (Onsite Private Power Purchase Agreement) ที่ผลิตจากแผงโซลาร์ที่ติดตั้งในพื้นที่ของโรงงานจากผู้ผลิต โดยไฟฟ้าที่มีการขายและส่งมอบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้านี้จะส่งจากระบบผลิตไปยังโรงงานผลิตโดยตรงภายในโรงงานและไม่มีการจ่ายเข้าระบบโครงข่ายของการไฟฟ้าโดยจ่ายไฟฟ้าได้ 20 MWh การดำเนินการข้างต้นจะส่งผลให้โรงงานแห่งนี้ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วน SCOPE 2 ไปได้ 40 MWh ส่งผลให้เหลือปริมาณการใช้พลังงาน 110 MWh

หากโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแห่งนี้ประสงค์จะประกาศตนว่าเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) จึงต้องการจะลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการใช้ไฟฟ้าให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม โรงงานของบริษัทแห่งนี้ไม่สามารถผลิตติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เพิ่มเติมได้อีก ดังนั้น บริษัทจึงซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนจากผู้ผลิตอื่นที่ตั้งอยู่ห่างจากโรงงานและจะส่งไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายมายังโรงงาน

ด้วยเหตุนี้ โรงงานจึงได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบที่มิได้มีการติดตั้งระบบผลิตในพื้นที่โรงงาน (Offsite Power Purchase Agreement) โดยผู้ผลิตจะจ่ายหน่วยไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายและโอน REC ให้กับบริษัทเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า บริษัทแห่งนี้ได้จ่ายหรือให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้มีไฟฟ้าสะอาดในระบบโครงข่ายไฟฟ้ามากขึ้น โดยที่โรงงานของบริษัทก็ยังคงใช้ไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายไฟฟ้าตามปกติ ไม่ได้มีการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าขึ้นใหม่

โดยสารัตถะแล้ว REC คือ กลไกที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยการรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของกลไก ช่วยสนับสนุนให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านการซื้อและขาย REC ทำให้ผู้ลงทุนพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการขาย REC โดยมีหน่วยการซื้อขายคือ REC ซึ่งคำนวณจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจริง (ไฟฟ้า 1 MWh มีค่าเท่ากับ 1 REC)

การใช้งาน REC เป็นไปในเป้าหมายของการอ้างสิทธิ์ในการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ สนับสนุนให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งหากพิจารณาจากการคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จะจัดอยู่ใน SCOPE 2 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) โดยจำนวน RECs ที่ซื้อมานั้นจะเป็นการลดข้อมูลกิจกรรม (Activity Data) ในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น และสามารถอ้างสิทธิ์ในการใช้พลังงานหมุนเวียน ทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากสายส่ง (Conventional Grid) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นองค์การที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดหรือ “RE100” ได้

แม้ว่าหน่วยไฟฟ้าที่โรงงานแห่งนี้ใช้จะมิใช่หน่วยไฟฟ้าที่ผู้ผลิต (ผู้ขาย) จ่ายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้า โรงงานก็สามารถกล่าวได้ว่าตน “ใช้ไฟฟ้าสะอาด” ซึ่งมีการส่งมอบแบบเสมือน ในกรณีนี้หากผู้ผลิตได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายจำนวน 20 MWh เพื่อขายให้กับโรงงานและส่งมอบ REC ให้ 20 ใบ จะส่งผลให้โรงงานแห่งนี้ลดการใช้ไฟฟ้า SCOPE 2 อันเป็นผลจากการใช้ไฟฟ้าเหลือ 90 MWh หากโรงงานแห่งนี้ประสงค์จะลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการใช้ไฟฟ้าให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเหลือศูนย์ จะต้องซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีก 90 MWh หรืออาจกล่าวได้ว่าจะต้องซื้อ REC อีก 90 ใบ

  • ซื้อคาร์บอนเครดิตแทน REC ได้หรือไม่ ?

หากโรงงานยังไม่สามารถซื้อ REC ได้หรือยังซื้อได้ไม่ครบ 90 ใบ และมีบุคคลมาเสนอขาย “คาร์บอนเครดิต” โรงงานน้ำตาลแห่งนี้จะซื้อคาร์บอนเครดิตมาเพื่อช่วยคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการใช้ไฟฟ้าปริมาณการใช้ไฟฟ้าเหลือศูนย์ได้หรือไม่ ?

คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกหรือมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น CDM, T-VER, VCS, GS โดยมีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าและสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินงานไปรายงานหรือเปิดเผยข้อมูล การนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

โดยการใช้งานคาร์บอนเครดิตเป็นไปในเป้าหมายของการอ้างสิทธิ์การลด/ดูดซับ ก๊าซเรือนกระจก หรือ สนับสนุนให้เกิดการลด/ ดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการซื้อคาร์บอนเครดิตจะทำให้องค์กรสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง และสามารถทำการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “คาร์บอนนิวทรัล” ได้

กรณีตามตัวอย่างนี้ โรงงานสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตได้ด้วยการนำปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการคำนวณใน Scope 2 เช่น โรงงานมีปริมาณการใช้ไฟฟ้า 90 MWh คิดเป็นคาร์บอนฟุตพริ้นท์ Scope 2 จำนวน 45 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โรงงานสามารถซื้อคาร์บอนเครดิต จำนวน 45 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ามาเพื่อ “ชดเชย” การปล่อยคาร์บอนจากการใช้ไฟฟ้าได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าการซื้อเครดิตในจำนวนดังกล่าวนี้เป็นการชดเชย (Carbon Offset) ที่โรงงานได้ปล่อยแล้ว มิได้เป็นการลดปริมาณการปล่อยซึ่งแตกต่างไปจากการซื้อ REC ที่ทำให้โรงงานกล่าวได้ว่าตนไม่ได้ใช้ไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าการซื้อคาร์บอนเครดิตนั้นยังสามารถนำไปชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการซื้ออ้อยเผาไหม้ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของการประกอบธุรกิจของโรงงานแห่งนี้ซึ่งเป็นคาร์บอนฟุตพริ้นต์ SCOPE 3 ได้อีกด้วย ในขณะที่ REC นั้นไม่สามารถนำไปลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอ้อยเผาไหม้ดังกล่าวได้ จึงกล่าวได้ว่า REC นั้นไม่อาจนำไปใช้ลดหรือชดเชย คาร์บอนฟุตพริ้นต์ SCOPE 3 จากการเผาอ้อยในกรณีนี้ได้

โดยสรุป REC นั้นเป็นทรัพย์สินอันเป็นวัตถุของการซื้อขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งมีการส่งมอบแบบเสมือนได้ ผู้ขายจะต้องโอน REC ให้ผู้ซื้อ สัญญาจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถ “ลดปริมาณ” การใช้ไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ SCOPE 2 ได้ มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งมอบหน่วยไฟฟ้าที่ผู้ผลิตได้จ่ายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้า และมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ผู้ซื้อนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คู่สัญญาซื้อขายควรจะเข้าใจตรงกันว่าการโอน REC นั้นไม่อาจทำให้ผู้รับโอนสามารถนำไปลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุก ๆ SCOPE ของคาร์บอนฟุตพริ้นต์

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 67)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top