น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 โดยระบุว่า ถือเป็นการจัดทำงบประมาณที่ทำลายสถิติใหม่ของตัวชี้วัดทางการคลังในหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น 1. การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลต่อ GDP สูงสุดในรอบ 36 ปี 2.รายจ่ายลงทุนต่องบประมาณ สูงสุดในรอบ 17 ปี 3.การชำระคืนเงินต้นต่องบประมาณ สูงสุดในรอบ 31 ปี 4.หนี้สาธารณะต่อ GDP สูงสุดในรอบ 29 ปี และ 5.ดอกเบี้ยต่อรายได้ สูงสุดในรอบ 14 ปี
- กู้เพื่อชดเชยขาดดุล สูงสุด All time high
โดยในส่วนของการตั้งงบสำหรับการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณนั้น หลายประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ แทบจะไม่ตั้งงบการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล ให้มากเกินกว่า 3% ของ GDP แต่ของไทยกลับขึ้นไปสูงกว่านั้น และสูงต่อเนื่องกัน 2 ปี คือในงบรายจ่าย ปี 67 ที่ตั้งงบการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล อยู่ที่ 4.3% ของ GDP และงบรายจ่ายปี 68 อยู่ที่ 4.5% ของ GDP
“เป็น 2 ปีติดๆ ที่กู้ชดเชยรายจ่าย สูงกว่ารายได้ แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน ถือเป็นความกล้าหาญมากของรัฐบาล ที่ผ่านมาอาจจะเคยสูงกว่านี้ แต่นั่นเป็นช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ การวางแผนงบประมาณในปีปกติ ที่ไม่ได้มีวิกฤติเศรษฐกิจ เราไม่เคยเห็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลมากขนาดนี้มาก่อน เหมือนรัฐบาลเริ่มเสพติดการขาดดุล เพราะกู้จนเกือบเต็มเพดานทุกปี โดยปี 67 และ 68 กู้จนอยู่ที่ 99% ของ GDP จนเกือบเต็มเพดานที่จะกู้ได้แล้ว” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
พร้อมมองว่า ปัญหาจากการใช้เงินเกินตัวในภาวะที่ไม่สามารถหาเงินได้ทัน เท่ากับรัฐบาลพาประเทศไปสู่ความเสี่ยง เพราะการกู้เงินที่เกือบเต็มเพดานแบบนี้ หากประเทศต้องประสบกับภาวะฉุกเฉินไม่คาดฝัน เช่น ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดดังเช่นที่ผ่านมา รัฐบาลจะไม่เหลือพื้นที่หรือเหลืองบประมาณไว้เพียงพอรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้
“รัฐบาลทำตัวแบบโนสน โนแคร์ ที่จะทำให้ประเทศตกไปอยู่ในภาวะความเสี่ยงแบบนี้ ก็เพียงเพื่อจะทำให้มีเงินมากพอที่จะไปทำโครงการเดียว นั่นคือดิจิทัลวอลเล็ต ที่ทำให้เราต้องกู้จนเต็มเพดาน 2 ปีติดต่อกัน”
- รายจ่ายลงทุนสูงสุดในรอบ 17 ปี เหมือนจะดี แต่ต้องดูไส้ใน
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อถึงดัชนีชี้วัดตัวที่ 2 คือ รายจ่ายลงทุน สูงสุดในรอบ 17 ปี แม้นายกรัฐมนตรีจะภูมิใจ แต่จริง ๆ อาจไม่ได้น่ายินดีขนาดนั้น เพราะสัดส่วนรายจ่ายลงทุนในปีงบ 68 ที่สูงอยู่ในระดับ 24% ของ GDP นั้น เป็นสัดส่วนที่สูงเพราะรัฐบาลได้รวมงบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตใส่ไว้ในงบลงทุนด้วยถึง 80% ซึ่งหากหักงบดิจิทัลวอลเล็ตออก จะเหลืองบรายจ่ายลงทุนแค่ 20.8% ของงบรายจ่ายประจำปีเท่านั้น ปริ่มเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 21% และจะทำให้มีรายการประจำบางรายการถูกตัดออก ดังนั้นหากตั้งรายจ่ายประจำตามจริง จะเหลือสัดส่วนรายจ่ายลงทุนแค่ 16.4% ของ GDP เท่านั้น
“งบดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนใหญ่แจกไปก็ไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภค อาจมีบ้างที่ ได้เงิน 1 หมื่นแล้ว เอาไปลงทุน แต่ก็คงจะน้อยมาก คงไม่ใช่ 80% แน่นอน และเงื่อนไขของการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเอาไปใช้เฉพาะเรื่องลงทุน แล้วจะมาเรียกว่ารายจ่ายลงทุนได้อย่างไร” น.ส.ศิริกัญญา ระบุ
- งบชำระคืนเงินต้น สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2548
จัดงบชำระคืนเงินต้นสำหรับหนี้สาธารณะไว้ที่ 4% ของงบประมาณ สูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ตั้งงบเพื่อโปะเงินกู้ เพื่อให้ยอดหนี้ลดลงไว แต่ที่น่าประหลาดใจ คือ เดิมกรอบงบปี 68 อยู่ที่ 3.6 ล้านล้านบาท ตอนนั้นตั้งงบชำระเงินต้นไว้ที่ 1.4 แสนล้านบาท และเมื่อขยายกรอบงบรายจ่ายมาเป็น 3.752 ล้านล้านบาท งบชำระเงินต้นแทนที่จะเท่าเดิม แต่กลับเพิ่มขึ้น และคงสัดส่วนต่องบประมาณที่ 4% แต่กลับไปลดงบชำระคืนดอกเบี้ยแทน
ซึ่งในที่สุดก็ทราบสาเหตุของการตั้งงบชำระคืนเงินต้นไว้สูง ก็เพราะว่ารัฐบาลจะนำไปขยายกรอบการกู้ขาดดุล ซึ่งมาจาก 2 ส่วน คือ 20% ของงบรายจ่ายประจำปี รวมกับ 80% ของงบชำระคืนเงินต้น ซึ่งหากยังตั้งงบชำระคืนเงินต้นไว้ที่ 1.4 แสนล้านบาท กรอบก็จะไม่พอใช้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
“ดังนั้นเรื่องนี้ อาจจะมองเหมือนน่ายินดี แต่ที่มาที่ไปของการตั้งงบเพิ่มขึ้น ก็เพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอีกเช่นกัน” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
- หนี้สาธารณะต่อ GDP สูงสุดในรอบ 29 ปี
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หนี้สาธารณะของไทยเคยขึ้นไประดับสูงสุดในปี 44 ที่ระดับ 57% ต่อ GDP ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติการเงินต้มยำกุ้ง และมาพีคสุดอีกครั้งในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงวิกฤติโควิดในปี 64 ซึ่งหนี้สาธารณะขึ้นไปที่ 58% ต่อ GDP และนับตั้งแต่นั้นมาระดับหนี้สาธารณะของไทยก็ไม่เคยลดลง และคาดว่าจะขึ้นไปพีคใหม่อีกรอบในปี 70 ซึ่งเป็นช่วงปีสุดท้ายที่จะครบวาระ 4 ปีของรัฐบาลชุดนี้ โดยหนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่เกือบ 69% ของ GDP ใกล้ชนเพดานใหม่ที่ 70% ต่อ GDP และเป็นการส่งต่อหนี้สาธารณะก้อนใหญ่ที่เกือบเต็มเพดานนี้ให้กับรัฐบาลชุดต่อไป ซึ่งแบบนี้จะถือว่ามีความรับผิดชอบทางการคลังหรือไม่
“นี่คือผลของการที่รัฐบาลชุดนี้ กู้ชดเชยขาดดุลแบบเต็ม max เต็มเพดาน 2 ปีติด ที่ทำให้พาเรามาถึงจุดนี้ จุดที่แม้ว่าประเทศจะไม่ได้เจอวิกฤติเศรษฐกิจอะไรเลย แต่เราก็อาจจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะกันอีกรอบ จาก 70% เป็นเท่าไรไม่รู้ เพราะ 70% อาจจะเอาไม่อยู่แล้ว เพราะเพียงเพื่อโครงการเดียว คือ ดิจิทัลวอลเล็ต” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
- สัดส่วนดอกเบี้ยต่อรายได้ สูงสุดในรอบ 14 ปี
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า สัดส่วนดอกเบี้ยต่อรายได้มีแนวโน้มจะทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องทุกปี ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะการที่สัดส่วนดอกเบี้ยต่อรายได้เพิ่มขึ้นนี้ จะไปเบียดบังงบประมาณในส่วนอื่นในปีงบประมาณถัด ๆ ไป เงินที่จะใช้พัฒนาประเทศในการทำโครงการอื่น ๆ ก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะต้องหมดไปกับภาระการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งบริษัทจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของประเทศ ส่วนใหญ่ จะยึดตัวเลขสัดส่วนดอกเบี้ยต่อรายได้ ต้องไม่เกิน 10% ในขณะที่ตัวเลขดังกล่าวของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าปีงบ 69 จะอยู่ที่ 12.24% ปีงบ 70 จะอยู่ที่ 13.08% และปีงบ 71 จะอยู่ที่ 13.84%
“5 ตัวชี้วัดในงบประมาณปี 68 นี้ ได้ทำลายสถิติใหม่อย่างสวยงาม แน่นอนว่าทุกอย่างยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังทุกประการ แต่หากมันเกิดขึ้นในหลาย ๆ ตัว หลาย ๆ ที่ พร้อมกัน และไต่ขึ้นขอบทุกตัวแบบนี้ มันคือภาวะความเสี่ยงที่ทำให้ประเทศไม่มีความพร้อม เหมือนคนภูมิคุ้มกันไม่ดี พอมีอะไรมากระทบนิดหน่อย ก็เจ็บป่วยรุนแรง เรื่องเหล่านี้แม้จะไม่ได้เกิดในทันที แต่ประเทศที่ดีควรต้องมีการเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุ
โดยตอนท้าย น.ส.ศิริกัญญา ได้ฝากไปถึงข้าราชการประจำทุกคนที่ยังมีความซื่อตรงต่อหลักการว่า หากพบว่ามีความผิดปกติในการจัดทำงบประมาณ ขอให้ส่งหนังสือท้วงติงเป็นลายลักษณ์อักษรเข้ามา ทั้งในแง่มุมของหลักกฎหมาย และหลักวิชาการ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 67)
Tags: GDP ไทย, พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย, พรรคก้าวไกล, ศิริกัญญา ตันสกุล