กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 13-16 มิ.ย.67 ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้รายงานคดีตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 คดี มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 1,250,808 บาท ดังนี้
คดีที่ 1 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 102,166 บาทบาท ผู้เสียหายเคยติดต่อธุรกรรมที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายไว้ ต่อมาได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจังหวัดเชียงราย ให้ผู้เสียหายดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชัน กรมที่ดิน เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อมูลเอกสารความถูกต้อง โดยส่งลิงก์ http://dol.oy-th.cc มาให้ และให้ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ต่อมาภายหลัง ผู้เสียหายเช็คยอดเงินในบัญชีของตนเอง พบว่าได้ถูกโอนออกไป จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 70,147 บาทบาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่จังหวัดลำพูน พื้นที่เขต 2 แจ้งว่าผู้เสียหายได้รับเงินบำเหน็จ โดยส่งลิงก์ให้ผู้เสียหาย ดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชันพร้อมกรอกยืนยันข้อมูลตัวตนแล้วจะโอนเงินให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงติดตั้งและทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ต่อมาภายหลังผู้เสียหายเช็คยอดเงิน ในบัญชีของตนเองพบว่าได้ถูกโอนออกไป จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 หลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 462,305 บาท ผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาสินเชื่อเงินกู้ออนไลน์ ผ่านช่องทาง Facebook ชื่อเพจปลอม TTB cash2go จึงทักข้อความไปสอบถามเพื่อต้องการกู้เงิน จำนวน 80,000 บาท มิจฉาชีพให้เพิ่มเพื่อนผ่านช่องทาง Line และให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลแบบฟอร์มการขอสินเชื่อตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ภายหลังแจ้งว่ามีการกรอกข้อมูลผิดพลาด จึงทำให้ระบบไม่สามารถทำรายการได้ ให้โอนเงินเพื่อทำการแก้ไขในระบบ ผู้เสียหายโอนเงินไปทั้งหมด 3 ครั้ง จนครั้งที่ 4 ผู้เสียหายไม่โอนไปให้ และเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 หลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 546,190 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกชักชวนให้ลงทุนสกุลเงินดิจิทัลอ้างผลตอบแทนกำไรสูง โดยส่งลิงก์ดาวน์โหลดแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการเทรดเหรียญ และมีการแนะนำในการลงทุน ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลังให้โอนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 5 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ มูลค่าความเสียหาย 70,000 บาท ผู้เสียหายรู้จักมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line พูดคุยจนสนิทใจได้ชักชวนไปทำงานต่างประเทศด้วยกัน โดยอ้างว่าจะเป็นคนดำเนินการต่าง ๆ ให้ทั้งหมด ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปให้ตามที่ได้ตกลงกัน เมื่อถึงวัน-เวลานัดหมายที่จะมารับเพื่อเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ ไม่มารับและไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่า ตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
ทั้งนี้ สถิติผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.66 – 16 มิ.ย.67 มีดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 50,072 สาย เฉลี่ยต่อวัน 3,261 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 93,957 บัญชี เฉลี่ยต่อวัน 1,037 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 59,105 บัญชี คิดเป็น 30.47% (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 44,714 บัญชี คิดเป็น 23.05% (3) หลอกลวงลงทุน 33,358 บัญชี คิดเป็น 17.20% (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 15,292 บัญชี คิดเป็น 7.88% (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 13,505 บัญชี คิดเป็น 6.96% (และคดีอื่นๆ 27,983 บัญชี คิดเป็น 14.44%)
“จากเคสตัวอย่าง จะเห็นได้ว่ามิจฉาชีพได้อ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ โดยใช้อุบายหลอกให้ติดตั้งแพลตฟอร์ม เพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายกรอกยืนยันข้อมูลส่วนตัว ก่อนที่จะโอนเงินของผู้เสียหายออกไปจากบัญชี ขณะที่บางเคสเป็นการหลอกลวงกู้เงิน และให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งกรณีเหล่านี้ หากไม่ตรวจสอบให้แน่ชัด ก็อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชน ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของหน่วยงาน หรือสอบถามข้อมูลจากธนาคาร หรือบริษัทสินทรัพย์ที่น่าเชื่อให้แน่ชัด ก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมใดๆ”
อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มิ.ย. 67)
Tags: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ดีอี, หลอกดูดเงิน, แอปพลิเคชัน, โจรออนไลน์