KEX ปรับลง 3.40% มาที่ 2.84 บาท ลดลง 0.10 บาท เมื่อเวลา 10.05 น.จากราคาเปิด 2.90 บาท ราคาสูงสุด 2.94 บาท และราคาต่ำสุด 2.84 บาท
บล.กรุงศรี ระบุ ปรับลดคำแนะนำหุ้น บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จาก”ถือ”เป็น “ขาย” และลดราคาเป้าหมายเหลือ 2.40 บาท (เดิม 4.80 บาท) หลังเพิ่มผล dilution การเพิ่มทุนผ่าน RO มองลบเพราะ (1) การเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้บ่งบอกว่าแนวโน้มบริษัทยังมีความไม่แน่นอนในระยะสั้นถึงกลาง (2) การชำระคืนหนี้ที่มีดอกเบี้ยเพียง 1% ให้กับบริษัทแม่ยังไม่ช่วยให้ผลประกอบการดีขึ้น (3) เรายังไม่เห็นภาพการพลิกฟื้นในส่วนของการดำเนินงานบริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (SFTH) จะสนับสนุน RO รอบนี้ แต่แนวโน้มยังคงไม่ชัดเจน
KEX จัดประชุมนักวิเคราะห์เพื่อชี้แจงแผนเพิ่มทุนว่าสาเหตุและจะใช้เม็ดเงินเพิ่มทุนไปทำอะไร เราไม่รู้สึกตื่นเต้นกับแผนเพิ่มทุน มีประเด็นสำคัญมีดังนี้ 1) ในกรณีเลวร้ายที่สุดมีเพียง SFTH (ผู้ถือหุ้นหลักของ KEX) จองซื้อหุ้นผ่าน RO (ไม่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนผ่าน RO เลย) จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ SFTH เพิ่มขึ้นเป็น 81% (สูงเกินเกณฑ์ 75% ที่ต้องทำ tender offer) ตามเกณฑ์ ก.ล.ต. การใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนผ่าน RO ที่ทำให้สัดส่วนถือหุ้นเกิน 75% ยกเว้นให้ SFTH ไม่ต้องทำ tender offer 2) SFTH ถือหุ้น KEX เกิน 49% ไม่ถือว่าละเมิดเกณฑ์การถือครองหุ้นของต่างชาติ เพราะ SFTH ถือเป็นนิติบุคคลไทย
3) บริษัทนำเงินจาก RO ไปชำระหนี้ และเก็บไว้ใช้ลงทุนและเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงาน บริษัทระบุว่าการเพิ่มทุนรอบนี้จะมากพอสำหรับรองรับการดำเนินงานในอีกสามปีข้างหน้า สอดคล้องกับแผนพลิกฟื้นธุรกิจของบริษัท 4) บริษัทคาดจะกำไรในอีกสองสามปีข้างหน้าจากที่ขาดทุนสุทธิ 3.88 พันลบ.ในปี 2566 ทั้งนี้การหาตลาดใหม่ และลดต้นทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจพลิกฟื้นได้ แต่บริษัทยังไม่สามารถระบุชัดว่าจะลดต้นทุนในส่วนไหน และ จะลดได้มากน้อยเพียงใด
คงประมาณการผลขาดทุน 3.4 พันลบ.ในปี 67-68 เรายังไม่เห็นภาพว่า RO รอบนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ KEX จากนำเงินที่คาดจะได้จากการเพิ่มทุน 3.2 พันลบ. (35%) ชำระหนี้ยังไม่ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลง เพราะเป็นหนี้จาก SFTH ซึ่งดอกเบี้ยต่ำไม่ถึง 1% ส่วนนำเงินเพิ่มทุนไปใช้ในการดำเนินงานปกติก็วัดประโยชน์ได้ยาก เรายังคงมองลบกับแนวโน้มของกลุ่ม
ขณะที่กลยุทธ์ใหม่ของบริษัทคือเน้นเจาะตลาดใหม่ๆโดยเฉพาะตลาด niche ธุรกิจการจัดส่งพัสดุด่วนเป็นธุรกิจที่ต้องมีขนาดใหญ่ การใช้กลยุทธ์นี้หมายความว่าบริษัทต้องลดต้นทุนลงอย่างมาก แต่บริษัทยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่าจะลดต้นทุนในส่วนไหนลง และลดได้มากแค่ไหน เราประเมินว่าบริษัทจะขาดทุน 3.4 พันลบ.ในอีกสองปีข้างหน้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 67)
Tags: KEX, หุ้นไทย, เคอรี่ เอ็กซ์เพรส