สทนช. มั่นใจน้ำท่วมปีนี้ไม่ซ้ำรอย 54 ขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการที่หลายภาคส่วนมีข้อกังวลว่าในปีนี้อาจเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554

เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า จะเริ่มเข้าสู่สภาวะลานีญาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และจะต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2567 นั้น สทนช. ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา (อต.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ (สสน.) ได้บูรณาการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ฝน ตลอดจนสภาพอากาศอย่างต่อเนื่องพบว่า สถานการณ์ในปีนี้แตกต่างจากปี 2554 หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณฝนในช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่ปี 2554 ฝนตกอย่างต่อเนื่อง สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 24% อีกทั้งพายุหมุนเขตร้อนที่พัดผ่านประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะมีเพียง 1-2 ลูก แต่ในปี 2554 มีพายุมากถึง 5 ลูก จนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่กินพื้นที่มากกว่า 5.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในช่วงปี 2554 ยังกระจัดกระจายขาดเอกภาพมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากถึง 48 หน่วยงาน ก่อให้เกิดปัญหาความทับซ้อนในเชิงโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ การใช้งบประมาณ เพราะไม่มีหน่วยงานหลักเข้ามาดูแลบริหารจัดการในภาพรวม แต่ในปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศมีเอกภาพมากขึ้น ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในปัจจุบัน จึงมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับสถานการณ์จริง และอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

ขณะที่นโยบายการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันก็แตกต่างจากในอดีต ปัจจุบันจะเน้นการดำเนินงานเชิงรุก คือเป็นการเตรียมการรับมือก่อนเกิดปัญหา รวมทั้งยังได้มีการบูรณาการวางแผนการบริหารจัดการน้ำหลากและจัดจราจรการระบายน้ำในแต่ละลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำมูล – ลุ่มน้ำชี เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกำหนดทิศทางและนโยบายในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืน เกิดประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น สร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ นำพาความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำให้กับประเทศ และหากมีแนวโน้มเกิดภาวะวิกฤติก็จะมีการจัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย” ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์อย่างแน่นอน

*ผนึกกำลังขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน

ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 67 ขณะนี้ สทนช. ได้เร่งรัดให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนดังกล่าว พร้อมติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ กนช. ยังได้เห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนและการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 67 เพื่อรองรับสถานการณ์ที่กำลังเข้าสู่สภาวะลานีญาซึ่งคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝนนี้อีกด้วย โดยแผนงาน/โครงการภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนดังกล่าว จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ คาดว่าแต่ละหน่วยงานจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 67 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์น้ำหลากและสภาวะลานีญาที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มิ.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top