ชี้ช่องอุตสาหกรรมไทยคว้าโอกาส ในวันที่โลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า นับวัน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จากความไว้วางใจกันระหว่างประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีแนวโน้มรับมือกับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ผ่านการพึ่งพาตนเอง หรือประเทศพันธมิตรมากขึ้น และกีดกันไม่ให้ประเทศที่มองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง เอาเปรียบและแข่งขันทัดเทียมกันได้

ยิ่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รุนแรง ยิ่งเร่งการแบ่งขั้วเศรษฐกิจ (Decoupling)

SCB EIC ชี้ว่า นโยบายระหว่างประเทศในระยะข้างหน้า จึงหันมาเน้นการกีดกันการค้าการลงทุน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ และเครือข่ายชาติพันธมิตร เพื่อรักษาระเบียบระหว่างประเทศ นำไปสู่การชะลอกระแสโลกาภิวัตน์และทำให้โลกแบ่งขั้วมากขึ้น

จากการศึกษาผลกระทบจากแนวโน้มการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่จะรุนแรงขึ้น โดยแบ่งกลุ่มประเทศในโลก ออกเป็น 3 กลุ่ม ตามความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และจีน ผ่านเกณฑ์การจัดกลุ่มประเทศจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ พบว่า หลังการแบ่งขั้วเศรษฐกิจ รูปแบบการค้าระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไป กลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกัน จะพึ่งพาการค้าระหว่างกันลดลง และหันมาพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง (Neutral stance) มากขึ้น

ขณะที่ประเทศไทย ซึ่งรักษาบทบาทเป็นกลางในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลก จะได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน (Trade and investment diversion) จากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกันมากขึ้น

ธุรกิจไทยแต่ละประเภท ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน

แม้ในภาพรวมการส่งออกไทย มีโอกาสได้รับประโยชน์จากรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป แต่ภาคการผลิตของไทย จะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน SCB EIC ประเมินผลกระทบภาคอุตสาหกรรมไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

(1) กลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เคยมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาไทยตั้งแต่เริ่มสงครามการค้าในปี 2561 ก่อนหน้านี้แล้ว ส่งผลให้ไทยมีจุดแข็งด้านห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ เช่น คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ หรือเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยจะได้อุปสงค์สินค้าทดแทนเพิ่มขึ้นจากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากข้อพิพาททางการค้า เช่น เครื่องดื่มและยาสูบ เนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์แปรรูป ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอยู่แล้ว และโลกยังมีความต้องการสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น โดยผลการศึกษาพบว่า

– คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ อาจขยายตัวได้ถึง 6% จากกรณีฐาน โดยจะมีความต้องการนำเข้าที่เบี่ยงเบนมาจากกลุ่มที่แบ่งขั้วกันเป็นหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น

– รถยนต์และส่วนประกอบ มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 8% และ 1.6% ตามลำดับ โดยมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากประเทศเป็นกลางด้วยกัน เช่น ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ รวมถึงประเทศขั้วสีแดง

– เครื่องดื่มและยาสูบ มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% โดยจะมีความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นหลัก ๆ จากประเทศเป็นกลางในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

(2) กลุ่มที่มีโอกาสเสียประโยชน์จากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมไทยที่ผูกโยงกับห่วงโซ่การผลิตของจีนหรือพึ่งพาอุปสงค์จากตลาดจีนเยอะ เช่น ปิโตรเคมีและพลาสติก ยางพาราและไม้ยางพารา ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แผงวงจรพิมพ์ อาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็ง หรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรงภายในภูมิภาคเพื่อแย่งชิงอุปสงค์ทดแทนจีนจากสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ เซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของสินค้าจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ เหล็กและเหล็กกล้า ผักและผลไม้ เสื้อผ้า สิ่งทอ รวมไปถึงอาจมีผู้ผลิตจากขั้วประเทศสีแดง ย้ายฐานการผลิตออกมาผลิตแข่งกับอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อลดการกีดกันการส่งออกสินค้าจากประเทศของตน โดยพบว่า

– เสื้อผ้าและสิ่งทอ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่ยังผูกโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลกเก่า และมีความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยมูลค่าการส่งออกสิ่งทอไทย จะลดลงมากถึง 24% จากกรณีฐาน

– เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งสาขาการผลิตขนาดใหญ่ที่จะเสียประโยชน์ มูลค่าการส่งออกอาจลดลงราว 6% อย่างไรก็ดี แม้จะมีการแข่งขันสูงในการส่งออกสินค้าเหล่านี้ แต่ไทยยังพอมีตลาดส่งออกไปยังประเทศแบ่งขั้วที่ต้องการสินค้านำเข้าทดแทนได้อยู่บ้าง

“ผลการศึกษาข้างต้นชี้ว่า หากการแบ่งขั้วในโลกรุนแรงขึ้นจะเป็นโอกาสของไทยได้ ถ้าไทยมีกลยุทธ์ในการปรับตัวเชิงรุก เพราะส่วนหนึ่งไทยต้องเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตที่เป็นปัญหาสะสมมานาน ในช่วงที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยยังมีจำกัด และมีศักยภาพการส่งออกต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง เพราะสินค้าส่งออกไทยส่วนใหญ่ ยังผูกโยงกับห่วงโซ่การผลิตของโลกเก่า และปรับตัวได้ค่อนข้างช้าต่อความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป” บทวิเคราะห์ระบุ

ไทยจะคว้าโอกาสได้ ต้องปรับตัวสู่ธุรกิจเชิงรุก

SCB EIC ระบุว่า บางอุตสาหกรรม อาจได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตโลก แต่อาจเผชิญความเสี่ยงและการแข่งขันสูง ทั้งนี้ ไทยจะสามารถคว้าโอกาสจากโครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนไปได้ นโยบายส่งเสริมการส่งออก และการปรับตัวของภาคธุรกิจเชิงรุกจะต้องสอดคล้องกับบริบทเฉพาะของสินค้าแต่ละประเภท ที่อาจได้หรือเสียประโยชน์แตกต่างกัน แบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง แต่แข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรเน้นพัฒนาความสามารถในการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวชูจุดแข็งของสินค้า และเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และปรับสินค้าให้ทันเทรนด์โลก

2) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง และการแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง และยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจ ต้องปรับตัวลดความเสี่ยงจาก Climate change และลงทุนพลังงานหมุนเวียน

3) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง แต่การแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้ดำเนินธุรกิจเดิม แต่ลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิต มุ่งตลาดส่งออกที่มีอยู่ ขณะที่ภาคธุรกิจควรปรับตัวเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีการผลิต และสร้างความเข้าใจในตลาดขั้วสหรัฐฯ และขั้วจีนเพื่อเข้าถึงความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น

4) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง และแข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปยังภาคการผลิตที่มีศักยภาพในการเติบโตบนห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจควรเร่งปรับตัวสู่ห่วงโซ่การผลิตใหม่ และหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีสนับสนุน

SCB EIC มองว่า โลกที่แบ่งขั้วไปแล้วคง ยากจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ไทยสามารถคว้าโอกาสจากความขัดแย้งนี้ และเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์กับประเทศได้ โดยอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ผ่านการออกแบบนโยบายเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสม พอดีตัว กับประเภทธุรกิจที่มีปัญหาแตกต่างกัน และผลักดันเชิงรุก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคการส่งออก

รวมถึงภาคธุรกิจเอง ที่ต้องตระหนักถึงโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยต้องเร่งทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นจากภายนอกสู่ภายในธุรกิจของตนเอง เพื่อให้การส่งออกไทยอยู่รอดได้ทั้งในสถานการณ์ “โลกรวมกัน เราก็อยู่” หรือแม้ “โลกแยกหมู่ ไทยก็ยังรอด”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 67)

Tags: ,
Back to Top