INTERVIEW: ASIA ในมือผู้บริหาร Gen ใหม่ พลิกโฉมปรับลุคอัพ ADR พุ่งขึ้น TOP TIER โรงแรม 4 ดาว

นายพัชรพล เตชะหรูวิจิตร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชียโฮเต็ล (ASIA) ผู้บริหาร Gen ใหม่ก้าวเข้ามารับช่วงต่อจากรุ่นบุกเบิกก่อร่างสร้างโรงแรมเอเชียให้เฉิดฉายยืนหยัดอยู่ใจกลางกรุงเทพย่านราชเทวีมายาวนานมาตั้งแต่ปี 2509 ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคสมัย โรงแรมเก่าแก่ในมือคนรุ่นใหม่แห่งนี้กำลังจะลุกขึ้นมาพลิกโฉมครั้งสำคัญเพื่อช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

เมื่อสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยปีนี้กลับมาคึกคักหลังจากซบเซาในช่วงโควิด-19 นาน 3 ปี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งสายการบิน โรงแรม เริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ชัดเจน สอดรับกับเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้สูงถึง 35-36 ล้านคน “Exclusive Interview” EP นี้มาพูดคุยกับ นายพัชรพล ถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นผลประกอบการของ ASIA ให้กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง

ก้าวแรกที่เป็นเป้าหมายหลัก คือ การผลักดันให้ผลประกอบการของ ASIA กลับมามีกำไรให้ได้ภายในปี 67 นี้ หลังจากประสบกับการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 62-66 ที่ 55.46 ล้านบาท , 120.70 ล้านบาท , 209.09 ล้านบาท, 111.45 ล้านบาท และ 54.26 ล้านบาท ตามลำดับ จากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 และปี 66 รับผลกระทบจากการด้อยค่าจากการประเมินราคาสินทรัพย์ใหม่ และในปีนี้ยังมีการประเมินสินทรัพย์โรงแรมที่เชียงใหม่คาดว่าจะบันทึกด้อยค่าราว 50 ล้านบาท

นายพัชรพล กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะพลิกมีกำไร หลังจากธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวได้ดีขึ้น เมื่อมีนักท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาส 1/67 เริ่มกลับมาเห็นกำไรสุทธิแล้ว 1.64 ล้านบาท โดยบริษัทจะหันมาโฟกัสการผลักดันรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (average daily rate : ADR) ให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 66 ที่อยู่ในระดับ 1,800 บาท/วัน ซึ่งโรงแรมเอเชียกรุงเทพที่เป็นโรงแรมที่สร้างรายได้หลัก มีอัตราเข้าพักสูงถึง 90%

ปัจจุบัน ASIA มีธุรกิจ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นธุรกิจโรงแรมที่มีอยู่ 7 แห่ง ได้แก่ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพ (Flagship) โรงแรมเอเชียพัทยา โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท โรงแรมเอเชียชะอำ โรงแรมราชพฤกษ์ ลานนา บูติค ที่เชียงใหม่ โรงแรมดาร์เลย์ เชียงใหม่ และ Quality Inn Long Beach-Signal Hill โรงแรมในสหรัฐฯ

ส่วนที่ 2 เป็นธุรกิจศูนย์การค้า โดยศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต เป็น Flagship ของกลุ่ม The hub Rangsit และคอมมูนิตี้มอลล์ ที่เชียงใหม่ และศูนย์การค้าที่ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ

สัดส่วนรายได้หลักมาจากธุรกิจโรงแรม 60% ศูนย์การค้ามีสัดส่วน 40% ขณะที่กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มีสัดส่วน 50%/50%

นายพัชรพล กล่าวว่า จากสัญญาณการฟื้นตัวที่เห็นชัดเจนขึ้น ทำให้บรืษัทตั้งเป้าผลักดันรายได้ช่วงปี 67-68 ให้เติบโตเฉลี่ยปีละ 20% เพื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19

“เราวางเป้าหมายกลุ่มโรงแรมเอเชียให้ ADR เป็น TOP Tier ของโรงแรม 4 ดาว เป้าสุดท้ายจะอยู่ที่ 3,000-3,500 บาท/วัน ซึ่งปลายปี 67 จะไต่ระดับมาที่ 2,000-2,500 บาท/วันก่อน จากการปรับปรุงล็อบบี้ใหม่เพื่อปรับภาพลักษณ์แบรนด์โรงแรมเอเชียก่อนที่จะปรับลุคทั้งหมดให้ดูโมเดิร์นมากขึ้น”

โดย ASIA จัดงบลงทุนปรับปรุงโรงแรมเอเชียกรุงเทพ 450 ล้านบาท ซึ่งปีนี้เริ่มปรับปรุงส่วนล็อบบี้และห้องจัดเลี้ยง ใช้งบรวม 250 ล้านบาท คาดว่าจะเห็นโฉมใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนห้องพักที่มี 600 ห้องวางงบปรับปรุง 200 ล้านบาทเป็น Major Renovate ในปลายปี 68 จะค่อย ๆ ทำทีละชั้น แม้จะอาจจะใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ก็ดีกว่าการเสียรายได้จากการปิดทั้งโรงแรม คาดว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จในปี 69

หลังจาก 3 ปีที่ปรับปรุงทุกส่วนของโรงแรมเอเชียกรุงเทพแล้ว เรามั่นใจว่าราคาห้องพักจะขยับขึ้นมาอยู่ระดับ Top Tier โรงแรม 4 ดาว อาจจะค่อยๆ ไต่ปีละ 20% หรืออาจพิจารณาปรับไปตามแต่ละช่วงเวลาที่เหมาะสม

“โรงแรมเอเชีย กรุงเทพ ถือว่าอยู่ในทำเลที่ดีมาก ที่อยู่ใจกลางเมือง และติดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่ทำให้เป็นตัวเลือกแรกของนักท่องเที่ยว จาก occupacy Rate ที่สูงระดับ 90% ตลอดทั้งปี และโลเคชั่นโรงแรมของทั้งกลุ่มก็อยู่ในทำเลที่ดี ปัจจุบันก็อยู่ระหว่างปรับปรุง Product ให้ดีขึ้น ต่อไปราคา-รายได้ก็จะตามมาทีหลัง…การปรับปรุงโรงแรมเพื่อให้เรากลับไปแข่งขันกับตลาดได้ “นายพัชรพล กล่าว

นอกจากนี้ ASIA ก็วางแผนปรับปรุงโรงแรมเอเชียพัทยา และโรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท โดยจัดงบลงทุนปรับปรุงแห่งละ 150 ล้านบาท รวม 300 ล้านบาท โดยโรงแรมทั้ง 2 แห่งนี้อยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าปลายปีนี้หรือต้นปี 68 น่าจะได้เริ่มดำเนินการได้

ทั้งนี้ งบปรับปรุงโรงแรม 3 แห่งรวม 750 ล้านบาทในช่วง 3 ปีนี้ จะมาจากเงินกู้สถาบัน และการออกหุ้นกู้

นายพัชรพล กล่าวว่า สำหรับโรงแรมเอเชียพัทยา เนื่องจากขาดการปรับปรุงมานาน ขณะที่ในพื้นที่มีการแข่งขันสูง ส่งผลให้อัตราเข้าพักเหลืออยู่แค่ 50-60% เชื่อว่าหากปรับปรุงแล้วจะเพิ่มอัตราเข้าพักได้แน่นอน โดยวางเป้าหมายทั้งปี 67 ยอดเข้าพักเฉลี่ย 70% ราคาจาก 1,000 บาทต้นๆ/วัน จะขยับขึ้นมาที่ราว 2,000 บาท/วัน น่าจะได้เห็นในปี 68 หลังปรับปรุงแล้ว

ส่วนโรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท มีห้องพักอยู่จำนวนมาก ผู้ใช้บริการหลัก ๆ เป็นกลุ่มราชการต่างจังหวัดที่เช้ามาจัดประชุม สัมมนาในกรุงเทพ เนื่องจากราคาห้องพักไม่สูงมาก แต่บริษัทจะปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเอกชน ปัจจุบัน ราคาห้องพักอยู่ที่ 1,000 บาทต้นๆ/วัน คาดว่าจะปรับมาที่ 1,000 บาทปลายๆ ถึง 2,000 บาท/วัน หลังจากปรับปรุงแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กลุ่มโรงแรม 4 ดาวของไทยที่อยู่ Top Tier มีระดับราคาห้องพัก หรือ ADR ที่ราว 2,000 บาท/วัน

ด้านธุรกิจศูนย์การค้า “เซียร์รังสิต” ที่เป็นศูนย์การค้าหลักของกลุ่ม บริษัทก็มีแผนปรับปรุงเช่นกัน เป็นในลักษณะรีฟรชภาพอาคารให้ทันสมัย ปรับปรุงโซนร้านค้าให้เข้ากับยุคสมัย แต่เป็นงานปรับปรุงไม่ใหญ่นัก ใช้งบประมาณราว 20-25 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้โซนไอทีทรงตัวแล้ว ก็จะดึงกลุ่มธุรกิจอื่นเข้ามาใช้พื้นที่ โดยจะปรับฟื้นที่ให้เข้ากับสินค้าแต่ละประเภทที่เราจะดึงเข้ามาเพิ่มในศูนย์การค้าฯ

พื้นที่เซียร์รังสิตอยู่ที่ 200,000 ตร.ม. ปัจจุบันมีพื้นที่ให้เช่าราว 100,000 ตร.ม. มี Occupacy Rate ราว 60% ขณะนี้เตรียมพื้นที่ว่าง 30,000-40,000 ตร.ม.ที่จะนำสินค้าใหม่เข้ามาเพื่อสนับสนุนการเติบโต โดยต้นปีที่ผ่านมาจัดพื้นที่สำหรับวงการพระเครื่อง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี โดยรายได้ของเซียร์รังสิตจะเพิ่มขึ้นได้จากการเพิ่มฐานผู้เช่ารายใหม่ และเพิ่มค่าเช่ากับผู้เช่าเรายเดิม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top