อัพเดท 5 โรคหน้าฝนควรระวัง!! สธ. แนะวิธีป้องกัน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อัพเดทสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพในช่วงหน้าฝนนี้ พร้อมคำแนะนำแก่ประชาชน เพื่อเตรียมรับมือ ดังนี้

1. โรคโควิด-19 แนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยสายพันธุ์หลักที่ระบาดเป็นสายพันธุ์ JN.1 ซึ่งมีความสามารถในการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-8 มิ.ย. 67 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาล 23,245 ราย ปอดอักเสบ 663 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 286 ราย และเสียชีวิต 137 ราย

โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 2-8 มิ.ย. 67 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 2,762 ราย เสียชีวิต 5 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรัง

ดังนั้น จึงขอเน้นย้ำประชาชนดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ หากมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก ควรแยกตัวจากผู้อื่นและปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น หากไม่ดีขึ้นใน 1-2 วันให้รีบไปพบแพทย์

2. โรคไข้หวัดใหญ่ อาจเกิดการระบาดในสถานที่ปิดเป็นกลุ่มก้อนได้ เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร เรือนจำ วัด เป็นต้น และช่วงนี้มีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-25 พ.ค. 67 พบผู้ป่วยสะสม 133,451 ราย ผู้เสียชีวิต 10 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียน ได้แก่ อายุแรกเกิด-4 ปี และอายุ 5-9 ปี

ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับการป้องกันโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงควรรีบไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน สำหรับโรงเรียน ค่ายทหาร หากมีการจัดกิจกรรมรวมตัวเป็นกลุ่มในระยะนี้ ควรมีการคัดกรองก่อนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเข้มงวด หากพบผู้มีอาการป่วย ให้งดเข้าร่วมกิจกรรมและรีบไปพบแพทย์

3. โรคไข้เลือดออก คาดการณ์ปี 67 นี้ จะเริ่มพบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนก.ค. ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-5 มิ.ย. 67 พบผู้ป่วย 30,353 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี จำนวน 9,085 ราย มีผู้เสียชีวิต 36 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ

ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมถึงการระวังไม่ให้ยุงกัด และให้สังเกตอาการบุตรหลาน ผู้สูงอายุในบ้าน หากมีอาการไข้สูงลอยมากกว่า 2 วัน ทานยาพาราเซตามอล เช็ดตัวแต่ไข้ไม่ลด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีจุดผื่นแดงตามตัว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

4. ไข้มาลาเรีย สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-7 มิ.ย. 67 พบผู้ป่วยจำนวน 5,277 ราย ซึ่งในช่วงนี้พบผู้ป่วยมากขึ้นในหลายจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเมียนมาร์ ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และเพชรบุรี (ทั้งนี้ มีรายงานจากจังหวัดที่ไม่ติดกับชายแดนบ้าง โดยส่วนหนึ่งติดเชื้อจากการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง) ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุ 25-44 ปี (1,559 ราย) และกลุ่มเด็ก 5-14 ปี (1,019 ราย)

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุงบริเวณนอกร่มผ้า นอนในมุ้งชุบสารเคมีทุกคืน เมื่อต้องค้างคืนในป่า สวน ไร่ และหลังกลับจากป่า 10-14 วัน หากมีอาการไข้ หนาวสั่น ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

5. เห็ดพิษ ช่วงนี้เข้าสู่หน้าฝนทำให้มีเห็ดป่าหรือเห็ดขึ้นเองตามธรรมชาติหลากหลายชนิด ทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกันมากมักแยกได้ยาก จึงทำให้พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษเป็นประจำทุกปีในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเขา ในปีนี้มีรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษแล้ว 10 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 36 ราย เสียชีวิต 4 ราย

ดังนั้น ขอให้ประชาชนซื้อเห็ดมาปรุงประกอบอาหารจากฟาร์มเห็ด หรือแหล่งที่มีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการเก็บหรือกินเห็ดป่าหรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ และไม่ควรเก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมี รวมถึงไม่กินเห็ดดิบ และไม่กินเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ดังนั้น “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน”

*เฝ้าระวังโรคระบาด

สำหรับโรคอื่นที่ต้องมีการติดตามสถานการณ์ ได้แก่

1. โรคฝีดาษวานร (MPOX) หรือฝีดาษลิง เริ่มพบการระบาดในไทยตั้งแต่เดือนก.ค. 65 และในปีนี้คาดว่าอาจมีแนวโน้มการระบาดสูงขึ้น โดยสถานการณ์โรคฝีดาษวานรตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65-28 พ.ค. 67 พบผู้ป่วยจำนวน 794 ราย เสียชีวิต 11 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 30-39 ราย (42.19%) ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (775 ราย)

โดยโรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อติดเชื้อจะมีอาการ มีผื่นขึ้น มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีอาการคัน กลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อและมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี มะเร็ง ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น

2. โรคไข้หวัดนก สถานการณ์ทั่วโลกมีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังในคน ได้แก่ H5N1, H5N2 และเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 67 ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (CDC) ได้รายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อจากโคนมในฟาร์ม 3 ราย ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในประเทศไทย ยังไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนก หลังจากรายสุดท้ายตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี มีคำแนะนำในการป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก และโคนมที่ป่วย/ ตาย และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ให้มาตรวจสอบทันที และไม่ควรนำซากสัตว์ไปประกอบอาหาร หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกและโคนม มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ

3. โรคแอนแทรกซ์ มีรายงานพบผู้ป่วยใน 2 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว จำนวน 65 ราย และประเทศอินโดนีเซีย ที่เมืองยอร์คจาการ์ตาร์ จำนวน 17 ราย ทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีผู้เสียชีวิต สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศ โดยพบผู้ป่วยในคนสุดท้ายที่ อ.แม่สอด จังหวัดตาก ปี 2560 เป็นการติดเชื้อที่ผิวหนัง และมีประวัติสัมผัสซากแพะที่นำมาจากพม่าด้วยมือเปล่า

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและสัตว์ โดยเฉพาะช่องทางเข้าออกที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หากประชาชนพบสัตว์ป่วยตาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ดำเนินการสอบสวนโรคทันที ห้ามเคลื่อนย้าย ผ่าซาก ชำแหละเนื้อหรือหนังสัตว์ที่ตาย และปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เช่น การล้างมือ กินอาหารปรุงสุกสะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วยตาย จะสามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกและโรคแอนแทรกซ์ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 67)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top