ถึงแม้จะผ่านพ้นช่วงวิกฤตจากสถานการณ์โควิด-19 กันไปแล้ว แต่ภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลกและความท้าทายใหม่ ๆ ก็ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น การวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มการตลาด ธุรกิจ และเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง โดยผู้บริหารในแวดวงต่าง ๆ น่าจะชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยภายในงาน CREATIVE TALK Conference 2024 คุณเจนคณิต รุจิรโมธา Chief Strategy Officer จาก Leo Burnett Thailand และ Publicis Groupe Thailand และคุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร Chief Customer Officer จาก SCBX ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และมุมมองต่อแนวทางการทำการตลาดซึ่งจะนำมาสู่ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง
คุณเจนคณิต กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา เทรนด์การตลาดในประเทศไทยนั้นมีความแตกต่างแยกย่อยออกไปอุตสาหกรรมต่างๆ แต่มีจุดร่วมที่สำคัญ คือ เหล่านักการตลาดให้ความสนใจกับการใช้ข้อมูล (Data) เป็นหัวใจในการวางแผนกลยุทธ์ และเรียนรู้อัลกอริทึมของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด อย่างไรก็ตามแต่ ปัญหาที่ตามมาก็คือ วิธีการทางการตลาดกลับกลายเป็นสูตรสำเร็จที่ขาดเอกลักษณ์และความโดดเด่น ทำให้ขาดความน่าสนใจและไม่สามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง และยังมีค่านิยมของ “Commerce Mindset” มากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างยอดขายหรือปิดยอดขายให้สำเร็จโดยเร็ว มากกว่าการสร้างการรับรู้และความผูกพันในระยะยาว
ส่วนสำหรับแนวโน้มในอนาคตนั้น ด้านคุณสุธีรพันธุ์ ก็ได้ศึกษาและสรุปเทรนด์จากประกาศของงาน Cannes Lions International Festival of Creativity เทศกาลโฆษณาระดับโลกมาได้ 8 เทรนด์ ดังนี้
1. AI and Creative: แม้เอไอจะมาแรงแค่ไหน ความคิดสร้างสรรค์ก็จะยังมีความสำคัญและบทบาทมากขึ้นในการสร้างสรรค์ผลงาน
2. Creator Economy and Brand Partnership: ความร่วมมือระหว่างเหล่าครีเอเตอร์และแบรนด์เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่ดึงดูดกลุ่มลูกค้าและเหล่าแฟนๆ
3. Cultural Relevance and Brand building: การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการสร้างความผูกพันกับลูกค้าในระยะยาว
4. Women’s Empowerment and Diversity (DEI): การทำการตลาดที่สนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลายของสังคม
5. Sustainability and Purpose-Driven Marketing: การสนับสนุนความยั่งยืนจากใจจริง ไม่อิงตามกระแสโลก
6. Future of Technology in Marketing: แนวโน้มการเติบโตของเทคโนโลยีทางการตลาด
7. Creative Effectiveness: การโน้มน้าวใจเหล่าผู้บริหารให้มองเห็นคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน
8. Personal and Professional Growth: วิธีการเอาชนะข้อจำกัดต่าง ๆ และภาวะ Burn Out จากการทำงาน
นอกจากนี้ คุณเจนคณิตยังเสริมอีกว่า การลงทุนในการสร้างแบรนด์ (Brand Building) เป็นสิ่งที่หลายๆองค์กรควรให้ความสนใจ และแนวทางการทำงานในอนาคตจะเปลี่ยนไป จากการทำงานแบบรายแคมเปญ (Campaign Based) ไปสู่การทำงานแบบวงจรต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยี (Dynamic Funnel Ecosystem) โดยการใช้ข้อมูล (Data) เป็นตัวกำหนดทิศทาง และนำข้อมูลกลับมาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดึงดูดลูกค้าได้ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถรักษาฐานลูกค้าและสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทำให้การคาดการณ์ถึงแนวโน้มการดำเนินธุรกิจและเศรษฐกิจในประเทศไทยในครึ่งปีหลังนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ CEO และ Co-Founder ของบริษัท Ookbee และคุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO จาก PaySolutions, Crenden.co และ Gash.ai ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองของอนาคตธุรกิจ และเศรษฐกิจไทยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในหลากหลายอุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ถึง 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อุตสาหกรรมการเกษตรที่มีสัดส่วนประมาณ 10% ของ GDP และอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกประมาณ 30% อย่างไรก็ตาม ในยุคของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) หากภาคธุรกิจในประเทศไทยสามารถนำ AI มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
แต่ความท้าทายอยู่ที่ว่า ธุรกิจในประเทศไทยยังรับการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำ AI เข้ามาใช้ในการทำงานไม่ถูกจุด ซึ่งอาจทำให้การนำมาใช้งานได้อย่างไมาเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ได้อย่างเต็มที่ ควรมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และนโยบายที่เอื้ออำนวยอย่างเป็นระบบจากภาครัฐ เพื่อให้สามารถนำศักยภาพของประเทศมาผสานกับเทคโนโลยี
และในช่วงครึ่งปีหลังของปี 67 เราจะได้เห็นการนำ AI มาใช้งานในธุรกิจมากขึ้น โดยจะมุ่งเน้นการนำ AI มาประยุกต์ใช้กับกระบวนการทำงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในทุกๆแผนกงาน นอกจากนี้ ภาคธุรกิจจะขยายช่องทางการขายไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการขยายธุรกิจไปสู่การค้าข้ามพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Cross Border E-Commerce และนำ Affiliate Marketing มาใช้เป็นหนึ่งในช่องทางการขายที่สำคัญ ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรออนไลน์เพื่อขยายฐานลูกค้า รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการนำ Customer Data Platform (CDP) มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลลูกค้าอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อลูกค้าและกระตุ้นในการซื้อซ้ำ
จะเห็นได้ว่า การเรียนรู้และปรับตัวอย่างต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์คุณค่าที่ยั่งยืน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จในระยะยาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 67)
Tags: CREATIVE TALK CONFERENCE 2024, Leo Burnett Thailand, Media Talk, SCBX, การตลาด, ธุรกิจ, สุธีรพันธุ์ สักรวัตร, เจนคณิต รุจิรโมธา, เศรษฐกิจไทย