ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พบว่า นักเศรษฐศาสตร์กว่าครึ่งหนึ่งคาดการณ์ว่า BOJ จะปรับลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นในการประชุมครั้งต่อไปซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ และมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากขึ้นที่คาดการณ์ว่า BOJ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ค.
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานผลการสำรวจดังกล่าวของ BOJ ซึ่งระบุว่า 54% ของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนทั้งหมด 50 คนที่เข้าร่วมการสำรวจในครั้งนี้กล่าวว่า BOJ อาจจะชะลอขนาดของการซื้อพันธบัตรจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านล้านเยนต่อเดือน ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 14 มิ.ย.นี้
สำหรับช่วงเวลาที่ BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปนั้น 1 ใน 3 ของนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าร่วมการสำรวจคาดการณ์ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในเดือนก.ค. เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนในเดือนเม.ย.ที่บ่งชี้ว่ามีนักเศรษฐศาสตร์เพียง 19% ที่คาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในเดือนก.ค.
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แนะนำให้ BOJ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก โดยดำเนินการในลักษณะค่อยป็นค่อยไป หลังจากที่ BOJ ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีในการประชุมเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
IMF ระบุในรายงานล่าสุดว่า กรรมการบริหารของ IMF เห็นด้วยกับการที่ BOJ ยังคงเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยไม่ให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีความผันผวนมากเกินไป และลดความเสี่ยงที่จะมีต่อเสถียรภาพด้านการเงินมหภาคในระหว่างที่ BOJ อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินครั้งประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ IMF ระบุว่า BOJ จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์การสื่อสารกับตลาดอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 67)
Tags: BOJ, ธนาคารกลางญี่ปุ่น