สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (6 มิ.ย.) หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมล่าสุด ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับลดดอกเบี้ยตาม ECB นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนหลังจากรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ส่งสัญญาณว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงด้านการผลิตน้ำมันโดยจะขึ้นอยู่กับภาวะตลาด
- ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.48 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 75.55 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.46 ดอลลาร์ หรือ 1.86% ปิดที่ 79.87 ดอลลาร์/บาร์เรล
คณะกรรมการ ECB มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 5 ปีหรือนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2562 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ระดับ 3.75% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 4.50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อยู่ที่ระดับ 4.25%
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การที่ ECB นำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะเป็นแรงผลักดันให้เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมในสหรัฐปรับตัวลดลง และเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
เจ้าชายอับดุลอาซิส บิน ซัลมาน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียกล่าวในการประชุมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economic Forum) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซียเมื่อวานนี้ว่า กลุ่มโอเปกพลัสสามารถระงับหรือยกเลิกการเพิ่มกำลังการผลิต หากโอเปกพลัสพิจารณาแล้วเห็นว่าตลาดมีความแข็งแกร่งไม่มากเพียงพอ
ทางด้านนายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียกล่าวว่า กลุ่มโอเปกพลัสอาจจะทำการปรับข้อตกลงการผลิตน้ำมันหากจำเป็น พร้อมกับกล่าวว่า การที่ราคาน้ำมันร่วงลงหลังการประชุมโอเปกพลัสครั้งล่าสุดนั้น มีสาเหตุมาจากการตีความที่ผิดพลาดเกี่ยวกับข้อตกลง และอีกสาเหตุหนึ่งคือเกิดจากการเก็งกำไรในตลาด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 67)
Tags: WTI, น้ำมัน WTI, ราคาน้ำมัน