Power of The Act: กฎหมายกับอัลกอริทึมเพื่อการประหยัดพลังงาน

การมุ่งหน้าสู่ระบบพลังงานแบบมั่นคง ยั่งยืน ยืดหยุ่น และเป็นประชาธิปไตยนั้นมิได้อาศัยแต่เพียงการผลิตและจัดหาพลังงานเท่านั้น หากแต่ยังหมายความรวมไปถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย หากมีการวางแผนการใช้ไฟฟ้าที่ดี ผู้ใช้ไฟฟ้าจะยังคงได้รับความเย็นสบายจากการใช้งานเครื่องปรับอากาศหรือชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ สามารถจ่ายค่าไฟฟ้าได้ “ถูกลง” และ “มีสิทธิเลือก” ที่จะลดการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

อย่างไรก็ตาม การวางแผนการใช้ไฟฟ้าที่ดีสามารถอาศัยการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าเพื่อพยากรณ์และวางแผนการใช้ไฟฟ้าได้ การเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ไฟฟ้านี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นการตอบสนองด้านโหลดของไฟฟ้า

จากมุมมองทางกฎหมาย เกิดคำถามขึ้นว่า หากมีบุคคลที่มีศักยภาพในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อการใช้ไฟฟ้าโดยใช้อัลกอริทึมเพื่อให้ “บริการประหยัดไฟฟ้า” เพื่อแลกกับค่าบริการที่คิดจากจำนวนเงินค่าไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟประหยัดลงได้แล้ว ธุรกิจนี้สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และถือเป็นกิจการไฟฟ้าที่จะอยู่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 หรือไม่? หากตกอยู่ในการกำกับดูแลอาจส่งผลให้การเข้าสู่ตลาดอาจจะต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ อาจมีต้นทุนในการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านวิศวกรรมและความปลอดภัย และอาจถูกรัฐกำกับอัตราค่าบริการ

*การตอบสนองด้านโหลดต่อความน่าเชื่อถือของระบบ

ในประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (กระทรวงพลังงาน) มีส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟเองจากรูปแบบการใช้ปกติ เพื่อตอบสนองต่อราคาค่าไฟในช่วงเวลาต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) โดยสามารถแบ่งประเภทของ DR ตามลักษณะกลไกการตอบสนอง แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ มาตรการตอบสนองด้านโหลดต่อความน่าเชื่อถือของระบบ (Reliability-Based Options) และมาตรการตอบสนองด้านโหลดต่อกลไกราคา (Price-Based Options)

มาตรการตอบสนองด้านโหลดต่อความน่าเชื่อถือของระบบ เป็นรูปแบบการตอบสนองต่อช่วงเวลาที่ความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้าต่ำ เหตุการณ์ผิดปกติ หรือเหตุฉุกเฉิน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า โดยอาจมีการกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้ใช้ไฟที่เข้าร่วมดำเนินการ เช่น มาตรการควบคุมโหลดโดยตรง (Direct Load Control) โดยผู้ใช้ไฟจะยอมให้ผู้ควบคุมระบบเข้ามาควบคุมการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟโดยตรงด้วยการควบคุมระยะไกลผ่านโครงข่ายสื่อสาร โดยผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับแจ้งและแสดงความประสงค์ลดพลังไฟฟ้าผ่านทางอุปกรณ์สื่อสารของตนและจะมีการลดการจ่ายไฟฟ้าโดยผ่านการควบคุมอัตโนมัติ

ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ใช้ไฟในประเทศไทยใช้งานเครื่องปรับอากาศมีความประสงค์ที่จะ “ควบคุมปริมาณไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าจากการใช้งานเครื่องปรับอากาศ” ในหน้าร้อน ระบบควบคุมโหลดนั้นสามารถควบคุมการเปิดปิดเครื่องปรับอากาศโดยใช้อัลกอริทึม ซึ่งช่วยในการลดการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศลงได้ขณะที่ผู้ใช้ยังคงรู้สึกเย็นสบายอยู่ (ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ ระดับวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตของ กุศะภณ เพชรสุวรรณ 2560)

อัลกอริทึม คือ ลำดับขั้นตอนของโปรแกรมที่ใช้สั่งการคอมพิวเตอร์ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง (ข้อมูลจากหนังสือ สุดยอดอัลกอริทึมพลิกโฉมโลก เขียนโดย Pedro Domingos เรียบเรียงโดย นพพล วราไพบูลย์) ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานอย่างมีลำดับขั้นตอนชัดเจน และเมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง โดยสามารถนำเอาหลักการของอัลกอริทึมมาใช้วางแผนการผลิตและจ่ายไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งนำไปสู่การลดการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้

ยกตัวอย่างเช่น อาคารหลังหนึ่งสามารถรับไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ (มีแบตเตอรี่สำรอง) ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลม (มีแบตเตอรี่สำรอง) และไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล สืบเนื่องจากความผันผวนไม่แน่นอนของทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน อาคารหลังนี้จะต้องรับเอาไฟฟ้าจากทั้งสามระบบ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือจะรับเอาไฟฟ้าจากระบบใดและเมื่อใด ผู้ให้บริการสามารถนำเอาหลักการอัลกอริทึมมาใช้ในการลำดับการใช้ไฟฟ้าได้ โดยเขียนโปรแกรมว่า ในวันที่มีการใช้ไฟฟ้ามากในเวลากลางวัน อาคารใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นลำดับแรก ตามด้วยไฟฟ้าจากพลังงานลม และไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดดีเซลเป็นลำดับสุดท้าย ส่วนในวันที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมจะเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้ในแบตเตอรี่สำรอง ในเวลากลางคืนของวันที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก กำหนดให้มีการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานลมเป็นอันดับแรก ตามด้วยไฟฟ้าที่เก็บในแบตเตอรี่สำรอง และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลเป็นลำดับสุดท้าย ส่วนเวลากลางคืนของวันที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย จะเก็บไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมในแบตเตอรี่สำรอง

การดำเนินการดังกล่าวนั้นสามารถคาดหมายได้ว่าจะนำไปสู่การประหยัดไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลได้ (ข้อมูลจากบทความ “DR และ Algorithm สำหรับระบบการจัดการพลังงานในไอแลนด์โหมดจากพลังงานทดแทน” โดย เสาวลักษณ์ ยอดวิญญูวงศ์ และคณะ)

*การตอบสนองด้านโหลดต่อกลไกราคา

มาตรการตอบสนองด้านโหลดต่อกลไกราคา ตั้งราคาค่าไฟฟ้าให้มีราคาสูงในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง หรือช่วงที่มีความเสี่ยงต่อที่จะเกิดเหตุการณ์ผิดปกติในระบบไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้า หรือหลีกเลี่ยงไปใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาอื่นที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำซึ่งมีราคาค่าไฟฟ้าถูกกว่า

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ให้คำอธิบายเอาไว้ว่าอัตราค่าไฟฟ้า ตามช่วงเวลา ของการใช้ หรือ ทีโอยู (Time of Use Rate – TOU) สะท้อนถึงต้นทุนไฟฟ้าอย่างแท้จริง กล่าวคือ ในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง (On Peak) ค่าไฟฟ้าจะสูง เนื่องจากการไฟฟ้าต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง / สายจำหน่าย ให้เพียงพอ ต่อความต้องการไฟฟ้าในช่วงนี้ และต้องใช้เชื้อเพลิงทุกชนิด (ทั้งถูกและแพง) ในการผลิตไฟฟ้า แต่ในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) ค่าไฟฟ้าจะต่ำ เนื่องจาก การไฟฟ้าไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้า และระบบสายส่ง / สายจำหน่าย (สร้างไว้แล้วในช่วง On Peak) จึงไม่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนนี้ มีเพียงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้า สามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงที่ถูกมาผลิตไฟฟ้า จึงทำให้ต้นทุนพลังงานไฟฟ้า ในช่วง Off Peak ต่ำกว่าช่วง On Peak มากกว่าครึ่งหนึ่ง หากผู้ใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าโดยเปลี่ยนเวลาใช้ไฟฟ้าจากช่วงที่มีความต้องการสูง (ทุกคนใช้ไฟฟ้าพร้อมกัน) เป็นช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าซึ่งเป็นเวลาที่ไฟฟ้ามีราคาถูกลง คำถามที่เกิดขึ้นคือผู้ใช้ไฟฟ้า “จะรู้” หรือ “ได้รับ” ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าของตนได้อย่างไร และจะได้รับสัญญาณที่เชื่อถือได้ว่าควรมีการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเวลาในการใช้ไฟฟ้าได้อย่างไร?

*มิเตอร์อัจฉริยะ

NSW Climate and Energy Action ให้คำอธิบายว่า “มิเตอร์อัจฉริยะ” เป็นอุปกรณ์ที่รองรับระบบการสื่อสารสองทาง โดยทำหน้าที่วัดปริมาณการใช้ไฟฟ้า และบันทึกเวลาของการใช้ไฟฟ้า โดยการบันทึกจะเกิดขึ้นตามเวลาจริง (อาจตามทุกช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น 15 หรือ 30 นาที) และส่งข้อมูลนี้ต่อไปยังผู้จำหน่ายไฟฟ้า (ระดับค้าปลีก) ซึ่งจะทำให้ผู้จำหน่ายไฟฟ้าสามารถอ่านข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจากระยะไกล (หรือเรียกได้ว่าไม่ต้องเดินทางมาอ่านมิเตอร์ ณ สถานที่ใช้ไฟฟ้า) ประโยชน์ของมิเตอร์อัจฉริยะนั้น นอกจากช่วยลดต้นทุนในการวัดจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้โดยอาศัยคนแล้ว ยังช่วยลดความผิดพลาดในการจดหน่วยและช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าวางแผนการใช้ไฟฟ้าโดยลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง (On Peak) อีกด้วย

การใช้งานมิเตอร์อัจฉริยะเพื่อสนับสนุนการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้านั้นมีการใช้ระบบโครงข่ายสื่อสาร (Network Communication) เพื่อการรับส่งข้อมูลระหว่างมิเตอร์และระบบกลาง จำเป็นต้องมีระบบโครงข่ายสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้การทำงานของมิเตอร์อัจฉริยะทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เรียกได้ว่า “ข้อมูล” และ “การวิเคราะห์ข้อมูล” เป็นองค์ประกอบสำคัญของการใช้มิเตอร์อัจฉริยะเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง (Peak Demand)

โดยมิเตอร์อัจฉริยะสามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยอาศัยข้อมูลเชิงสถิติและระบบการคำนวณเชิงตัวเลข และสามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยอาศัยระบบซอฟต์แวร์การวิเคราะห์ข้อมูลใช้อัลกอริทึมในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ สามารถแสดงขั้นตอนที่หลากหลาย เช่น การค้นหาข้อมูลในฐานข้อมูล, การจัดเรียงข้อมูล, การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น หรือข้อกำหนดที่ใช้ในการแก้ปัญหา หรือดำเนินการเพื่อเป็นแนวทางในการลดการใช้ไฟฟ้า เช่น การทำนายปริมาณการใช้พลังงานในอนาคต การจำแนกประเภท (Classification Algorithms) เพื่อระบุรูปแบบการใช้งานที่ผิดปกติหรือการใช้งานที่มากเกินไป และเพิ่มความปลอดภัยตรวจสอบและป้องกันการใช้พลังงานที่ผิดปกติหรือการโกงพลังงาน เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่ใช้ทรัพยากรพลังงานอย่างยั่งยืน และการลดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

*ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานหรือไม่?

การเลือกหรือกำหนดลำดับการรับไฟฟ้าที่ผลิตจากหลายระบบ และการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าโดยใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึมนั้นนำไปสู่การลดการใช้ไฟฟ้าหรือจ่ายค่าไฟฟ้าน้อยลงได้ อย่างไรก็ตาม การให้บริการนี้ยังอยู่นอกขอบเขตของระบบใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ ซึ่งได้บัญญัตินิยามของกิจการพลังงานเอาไว้โดยเฉพาะ ตามมาตรา 4 “กิจการพลังงาน” หมายความว่า กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ หรือกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน “กิจการไฟฟ้า” หมายความว่า การผลิต การจัดให้ได้มา การจัดส่ง การจำหน่ายไฟฟ้า หรือการควบคุมระบบไฟฟ้า ส่วน “ระบบโครงข่ายไฟฟ้า” หมายความว่า ระบบส่งไฟฟ้าหรือระบบจำหน่ายไฟฟ้า

จากนิยามข้างต้น การให้บริการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอันนำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้านั้นย่อมมิใช่การผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และมิใช่การจำหน่ายไฟฟ้า อีกทั้งมิใช่การประกอบกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้า การให้บริการในลักษณะนี้เป็นตลาดที่สามารถแยกต่างหากตลาดไฟฟ้าอื่นได้ โดยเป็นคนละตลาดกับผู้ประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า เนื่องจากมิได้เป็นการให้บริการนำเอาไฟฟ้าจากระบบส่งไฟฟ้า หรือระบบผลิตไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า กล่าวคือมิใช่บริการขนส่งไฟฟ้า ผลสำเร็จของการให้บริการคือ การลดการใช้ไฟฟ้า การบริหารจัดการการใช้ การประหยัดหรือการใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงมิใช่การจำหน่ายหรือค้าปลีกไฟฟ้า ดังนั้น หากบุคคลประสงค์จะให้บริการเฉพาะส่วนนี้ ย่อมไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าจาก กกพ.

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการประมวลผลข้อมูลเพื่อรองรับการทำงานของมิเตอร์อัจฉริยะนี้ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรอาจมีการออกใบอนุญาตประกอบ Smart Meter Communication License แยกเป็นการประกอบกิจการเฉพาะหนึ่ง Smart Meter Communication License จะออกตาม Gas Act 1986 และ Electricity Act 1989 ผู้รับใบอนุญาต เช่น Smart DCC Ltd (“DCC”) จะได้รับสิทธิประกอบกิจการมิเตอร์อัจฉริยะโดย DCC จะรับหน้าที่พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีการสื่อสาร (Telecommunications Technology Infrastructure) เพื่อรองรับการทำงานของมิเตอร์อัจฉริยะ โดยมิได้เป็นผู้ทำการติดตั้งตัวมิเตอร์ เนื่องจากผู้จำหน่ายไฟฟ้า (Energy Supplier) จะเป็นผู้ติดตั้งตัวมิเตอร์เอง

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าหากบุคคลที่ประสงค์จะประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า (หรือเรียกได้ว่าเป็นผู้ค้าปลีกไฟฟ้า) โดยจะใช้งานมิเตอร์อัจฉริยะเพื่อสนับสนุนการเรียกเก็บค่าบริการ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการติดตั้งและใช้งานมิเตอร์อัจฉริยะตลอดจนการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้ไฟฟ้านั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจการจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งจะต้องรับใบอนุญาตจาก กกพ. ส่งผลให้การให้บริการนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจการไฟฟ้าที่ถูกกำกับดูแลอัตราค่าบริการ มาตรฐานทางวิศวกรรมและความปลอดภัย

*มีตลาดการให้บริการที่แข่งขันกันได้หรือไม่?

การใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึมกำหนดลำดับการรับเอาไฟฟ้าที่ผลิตจากหลายระบบ และการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเพื่อนำไปสู่การลดการใช้ไฟฟ้า การบริหารจัดการการใช้ การประหยัดหรือประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้านั้นเป็นกิจการที่มีการแข่งขันกันได้โดยผู้ประกอบกิจการหลายรายซึ่งสามารถเสนอการให้บริการนี้โดยอาศัยเทคโนโลยีหรือระบบที่แตกต่างกันโดยมีราคาแตกต่างกันได้

หากจะมีการกำกับดูแลการประกอบกิจการนี้ในอนาคต เช่น หากมีการแก้ไข พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ ให้กิจการสื่อสารสำหรับมิเตอร์อัจฉริยะเป็นกิจการไฟฟ้าซึ่ง กกพ. สามารถกำหนดประเภทใบอนุญาต คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต และมาตรฐานทางวิศวกรรมและความปลอดภัยในการประกอบกิจการ แต่ในส่วนของอัตราค่าบริการนั้น กกพ. ควรกำกับในลักษณะเป็นกิจการที่แข่งขันกันทางราคาได้

โดยสรุป การให้บริการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลโดยอาจใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึมในการกำหนดลำดับการรับไฟฟ้าที่ผลิตจากหลายระบบ และการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเพื่อนำไปสู่การลดการใช้ไฟฟ้า การบริหารจัดการการใช้ การประหยัดหรือประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจำหน่ายไฟฟ้า แต่มิใช่การจำหน่ายหรือค้าปลีกไฟฟ้า จึงมิใช่กิจการที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้าจาก กกพ. ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการไฟฟ้าฯ ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ โดยบัญญัติให้กิจการสื่อสารสำหรับมิเตอร์อัจฉริยะเป็นกิจการไฟฟ้าตามกฎหมายซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับกฎหมายของสหราชอาณาจักร

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 มิ.ย. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top