หุ้นแบงก์กลุ่มปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ปรับตัวลง นำโดย TTB ลบ 1.18% มาอยู่ที่ 1.67 บาท ลดลง 0.02 บาท มูลค่าซื้อขาย 260.18 ล้านบาท
BAY ลบ 0.98% มาอยู่ที่ 25.25 บาท ลดลง 0.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 975.68 ล้านบาท
KKP ลบ 0.50% มาอยู่ที่ 50.25 บาท ลดลง 0.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 7.20 ล้านบาท
TISCO ลบ 0.26% มาอยู่ที่ 97.25 บาท ลดลง 0.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 23.45 ล้านบาท
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินกลุ่มแบงก์ที่มีพอร์ตสินเชื่อเช้าซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นจำนวนมากยังคงได้รับผลกระทบจากการขาดทุนรถยึดเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/67 หลังจากที่ดัชนีราคารถยนต์นั่งมือสองเดือน เม.ย.24 ลดลงต่อเนื่อง 1.9% จากเดือนก่อนหน้าและ 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีราคารถยนต์นั่งส่วนบุคคลมือสองพลิกกลับมาลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สวนทางกับดัชนีราคารถยนต์บรรทุกมือสองที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน คาดว่าเป็นผลมาจากสถานการณ์ซัพพลายในตลาดที่มีจำนวนมาก จากการควบคุมสินเชื่อที่เข้มงวด การเร่งยึดรถ และการเข้ามาของรถยนต์ EV โดยมองว่า KKP ได้รับผลกระทบมากที่สุด รองมาเป็น TISCO และ TTB ตามลำดับ
ขณะที่ TTB มีประเด็นเพิ่มเติมจาก บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ว่า สำหรับกลุ่มแบงก์ที่ผ่านมาปรับตัวลงตามภาพรวมตลาดที่ปรับลง โดยกลุ่มมีขนาด Mkt cap แบงก์ใหญ่เป็นอับ 2 รองจากลุ่มพลังงาน โดยคิดเป็น 10.52% ของน้ำหนักตลาด ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่อง โดย YTD ขายไปแล้ว 8.4 หมื่นล้านบาท และการถือครองของนักลงทุนต่างชาติ Foreign Ownership ของกลุ่มแบงก์ล่าสุดมีการปรับตัวลง
สำหรับ TTB จะเห็นการปรับตัวลงของการถือครองของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้จะเห็นแรงขายของ TTB และกดดันราคาหุ้นให้ปรับตัวลงมาในช่วงที่ผ่านมา
ในด้านพื้นฐาน คุณภาพสินทรัพย์ของ TTB ค่อนข้างแข็งแกร่ง และยังมีผลประโยชน์ทางภาษี หรือ tax benefit อีก 1.4 หมื่นล้านบาทช่วยหนุนผลประกอบการ แต่ในด้าน valuation ของ TTB ไม่ได้ถูก ก่อนหน้านี้ซื้อขายกันที่ +3SD ของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ขณะที่ปัจจุบันซื้อขายที่ประมาณ +1SD ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้ถูกมากนัก เราคงคำแนะนำ “ถือ” TTB ราคาเป้าหมาย 1.95 บาท
นอกจากนั้น รมช.คลังมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทบทวนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังทั้งหุ้นที่ควรถือครองไว้ เช่น หุ้นที่รัฐมีนโยบายต้องถือครอง รวมถึงหุ้นที่ไม่มีความจำเป็นต้องถือและควรจำหน่ายออก เช่น หุ้นจากการยึดทรัพย์ เพื่อบริหารแผนการลงทุนสร้างกำไรให้รัฐ ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงการคลังถือ TTB อยู่ 11.68% ทำให้ประเด็นดังกล่าวอาจกดดันราคาหุ้นให้ปรับตัวลง ทั้งนี้ คงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 มิ.ย. 67)
Tags: สินเชื่อ, สินเชื่อรถยนต์, หุ้นแบงก์, หุ้นไทย