ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) เป็นระดับ “A-” จากระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” การลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่คาดและภาระหนี้ที่สูงขึ้น ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของปริมาณยางธรรมชาติและกำไรขั้นต้นในยุโรป รวมถึงการแข่งขันด้านราคาของธุรกิจถุงมือยาง
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้นำในธุรกิจยางธรรมชาติ ความสามารถและประสบการณ์ของผู้บริหาร รวมถึงความสามารถในการแข่งขันจากกลยุทธ์การขยายธุรกิจในแนวดิ่งและความแข็งแกร่งของสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งเหล่านี้ถูกลดทอนด้วยธรรมชาติที่เป็นวงจรขึ้นลงและความผันผวนของราคายางธรรมชาติ กำไรที่ค่อนข้างน้อยสำหรับสินค้าในธุรกิจกลางน้ำของยางพารา และการแข่งขันทางราคาของธุรกิจถุงมือยางท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
– ผลการดำเนินงานอ่อนแอและภาระหนี้สูง ผลประกอบการในปี 2566 และในไตรมาสแรกของปี 2567 อ่อนแอกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการระบายสต๊อก (Destocking) สินค้ายางธรรมชาติ กำไรที่ค่อนข้างน้อยสำหรับสินค้าในธุรกิจกลางน้ำของยางพารา และการแข่งขันทางด้านราคาอย่างมากในธุรกิจถุงมือยาง
รายได้ของบริษัทในปี 2566 อยู่ที่ 8.45 หมื่นล้านบาท ลดลง 24% จาก 1.1 แสนล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงมาอยู่ที่ 5.1 พันล้านบาทในปี 2566 จาก 1.04 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่ อัตรา EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ลดมาอยู่ที่ระดับ 6% จาก 9.4% ในปี 2565 บริษัทยังคงลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ส่งผลให้ภาระหนี้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566 ด้วยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นไปอยู่ระดับ 5.1 เท่าจากที่เคยอยู่ที่ประมาณ 0.3 -1.8 เท่าในระหว่างปี 2563-2565
ผลประกอบการที่อ่อนค่ายังคงส่งผลต่อเนื่องมายังไตรมาสแรกของปี 2567 โดยที่ EBITDA ลดลง 40% จากในช่วงเดียวกันของปี 2566 EBITDA Margin อยู่ที่ระดับ 4.3% และ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA (ประมาณการเต็มปี) ขึ้นไปถึง 7.6 เท่า
– การเพิ่มของรายได้ที่จะเกิดขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราการเติบโตที่ตัวเลขสองหลักต่อปีสำหรับรายได้ในปี 2567-2568 และโตที่ระดับ 5% ในปี 2569 เนื่องจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ความต้องการที่จะเริ่มกลับมาเก็บกักสินค้าใหม่ และกฎหมายใหม่ของยุโรป คือ EU Deforestation Regulations (EUDR) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ในปี 2567 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัททั้งปีจะสามารถกลับไปอยู่ที่ราว ๆ 1 แสนล้านบาท เนื่องจากมองว่าการระบายสินค้าได้จบลงแล้วและการบริโภคเริ่มกลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทได้รับการสั่งซื้อสินค้าที่ทำตามข้อกำหนดของ EUDR ทำให้บริษัทสามารถได้รับผลกำไรที่มากขึ้น ทริสเรทติ้งมองว่าข้อกำหนดของ EUDR จะส่งผลอย่างมากต่อรายได้ของบริษัทในปี 2568 เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายยังไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับ EUDR รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 1-1.28 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2567-2569
– ผลการดำเนินงานมีความท้าทาย โดยเฉพาะอัตราการทำกำไร ทริสเรทติ้งเชื่อว่าผลประกอบการของบริษัทยังคงถูกกดดันอยู่จากราคาสินค้า นอกจากนี้ สินค้าของบริษัทเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะมีความแตกต่างน้อยระหว่างบริษัทผู้ค้า EBITDA Margin ของบริษัทยังคงอยู่ที่ราว ๆ 6%-7% ระหว่างปี 2567-2569 ใกล้เคียงกับในปี 2566 แต่มากกว่าค่อนข้างมากจาก 4% ในไตรมาสแรกของปี 2567 เนื่องจากคาดว่าราคาสินค้าจากยางพาราจะสูงขึ้น การแข่งขันด้านราคาของธุรกิจถุงมือยางจะค่อย ๆ เบาบางลง พร้อมกันกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการลดต้นทุนในสายการผลิตสินค้าอีกด้วย EBITDA ของบริษัทคาดว่าจะทยอยเพิ่มขึ้นจนอยู่ที่ระดับ 8.5 พันล้านบาทในปี 2569 แต่ยังน้อยกว่าระดับ 1-3 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลดีจากการระบาดของโรคโควิด 19 และสงครามรัสเซีย ยูเครน
– ภาระหนี้จะทยอยปรับลดลง ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะทยอยลดลงในช่วงปีประมาณการ โดยเงินลงทุนจะอยู่ที่ราว ๆ 2-4 พันล้านบาทต่อปี โดยบริษัทจะใช้เพื่อการขยายกำลังการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนให้ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงการติดตั้งแผงโซล่าร์ และการเปลี่ยนเครื่องจักรเก่าออกจากสายการผลิต การลงทุนเหล่านี้จะทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากที่ประมาณการว่ารายรับของบริษัทจะดีขึ้น อัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อ EBITDA คาดว่าจะลดลงจากระดับ 5.1 เท่าในปี 2566 และ 7.6 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2567 มาอยู่ที่ 4.5 เท่าในปี 2567 และจะค่อย ๆ ลดลงต่ำกว่า 3 เท่าในปี 2569
– สภาพคล่องที่เพียงพอในอีก 12 เดือนข้างหน้า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 บริษัทมีแหล่งเงินทุนประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.12 หมื่นล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 3.52 หมื่นล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานในอีก 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ราว 4.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีหนี้จำนวนค่อนข้างใหญ่ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 1.26 หมื่นล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาว 2 พันล้านบาท และหุ้นกู้จำนวน 4.5 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินกู้ยืมระยะสั้นของบริษัทจะสามารถหมุนเวียนใช้ได้ ส่วนแผนการลงทุนและประมาณการดอกเบี้ยจ่ายและเงินปันผลในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 4 พันล้านบาทและ 3 พันล้านบาท ตามลำดับ
ข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ของบริษัทระบุให้บริษัทต้องรงอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนไม่เกิน 3 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 256 7 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.6 เท่า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินดังกล่าวได้ในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า
– โครงสร้างหนี้ ณ เดือนมีนาคม 2567 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นจำนวน 4.37 หมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 1.37 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันของกลุ่มบริษัท และหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อย ดังนั้น บริษัทจึงมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมที่ระดับ 31%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
– รายได้รวมจะเติบโตที่ระดับ 20% ในปี 2567-2568 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และจะเติบโตที่ระดับ 5% ในปี 2569
– อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 9%-10% ในช่วงระหว่างปี 2567-2569
– เงินลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 4.0 พันล้านบาทต่อปีระหว่างปี 2567-2568 และ 1.5 พันล้านบาทในปี 2569
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ถุงมือยางและอุปสงค์ยางธรรมชาติทั่วโลกที่ยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความสำเร็จในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ต่ำกว่า 3 เท่า และ EBITDA อยู่ที่ระดับมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ในช่วงเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงก็อาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตได้ด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 67)
Tags: STA, ทริสเรทติ้ง, ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี