ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) เป็นระดับ “A-” จากระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”
การลดอันดับเครดิตเป็นไปตามการลดอันดับเครดิตของบริษัทแม่ของบริษัท คือ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) (อันดับเครดิต “A-/Stable”) ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่คาดและภาระหนี้ที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ด้วยสถานะการเป็นบริษัทย่อย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
– มีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ STA โดย STA เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 56% ณ เดือนมีนาคม 2567 คณะผู้บริหารระดับสูงของ STA มีอิทธิพลต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัท
บริษัทได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจถุงมือยางให้แก่ STA ซึ่งถือว่าเป็นส่วนนึงของกลยุทธ์บูรณาการในแนวดิ่ง ทั้งนี้ STA มีสัญญาในการจัดหาน้ำยางข้นธรรมชาติให้แก่บริษัทซึ่งทำให้บริษัทมีความมั่นคงในการจัดหาวัตถุดิบสำหรับการผลิตถุงมือ นอกจากนี้ บริษัททั้งสองก็มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในหลาย ๆ ด้านซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการขนส่ง อีกทั้งบริษัทยังมีความร่วมมือกับบริษัทแม่ในด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงมือจากน้ำยางข้นแบบใหม่ที่มีนวัตกรรมอีกด้วย
บริษัทมีส่วนสำคัญต่อผลการดำเนินงานของ STA โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 รายได้ของบริษัทคิดเป็น 26% ของรายได้ทั้งกลุ่มและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คิดเป็น 68%
– สถานการณ์อุปทานส่วนเกินส่งผลต่อผลการดำเนินงาน ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2566 อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์เนื่องจากสถานการณ์อุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมถุงมือยางยังคงดำเนินอยู่ โดยในระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ความต้องการถุงมือยางเพิ่มขึ้นและมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้ประกอบการทั้งเก่าและใหม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น ส่งผลให้ในเวลาต่อมาเมื่อความต้องการถุงมือยางกลับสู่ภาวะปกติในปี 2565 สถานการณ์อุปทานส่วนเกินและการแข่งขันทางราคาจึงเกิดขึ้น ราคาถุงมือยางต่อชิ้นในปี 2566 ลดลง 24% จากปี 2565 และ 65% จากปี 2564 มาอยู่ที่ระดับ 0.61 บาทต่อชิ้น รายได้ของบริษัท ในปี 2566 ลดลง 15% มาอยู่ที่ระดับ 1.99 หมื่นล้านบาทจากที่ระดับ 2.35 หมื่นล้านบาทในปี 2565 อัตรา EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ตกลงมาอยู่ที่ 12% จาก 15% การแข่งขันทางด้านราคายังคงส่งผลต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 2567 โดย EBITDA Margin ยังคงอยู่ที่ 11%
– รายได้ปรับตัวสูงขึ้นแต่การทำกำไรยังคงท้าทายอยู่ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 20% ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นประมาณ 5%-10% ต่อปีในระหว่างปี 2568-2569 เนื่องจากความต้องการที่สูงขึ้นภายหลังการใช้สต๊อคสินค้าเก่าในระหว่างปี 2565-2566 ปริมาณขายในไตรมาสแรกของปี 2567 โตขึ้นเกือบ 40% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคายังคงมีอยู่ แม้ว่าผู้ผลิตหลายรายลดกำลังการผลิตลงเพื่อให้ช่องว่างระหว่างอุปทานและอุปสงค์แคบลงแต่สถานการณ์อุปทานส่วนเกินยังคงอยู่ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถปรับเพิ่มราคาขายได้เล็กน้อย โดยอยู่ในช่วงราคา 0.6-0.7 บาทต่อชิ้นใกล้เคียงกับราคาในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ แม้ประสิทธิภาพในการผลิตจะดีขึ้นแต่การขึ้นราคายังคงจำกัด ส่งผลให้ EBITDA Margin ของบริษัทจะอยู่ที่ราว ๆ 12% โดยรวมทริสเรทติ้งคาดว่า รายได้ของบริษัทน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.3-2.7 หมื่นล้านบาทต่อปีระหว่างปีประมาณการ โดย EBITDA จะอยู่ที่ราว ๆ 2.5-3.1 พันล้านบาทต่อปี
สภาพคล่องที่เพียงพอ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 8.1 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 2 พันล้านบาท เงินสดจากการดำเนินงานในอีก 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน 2 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า แผนการลงทุนพร้อมทั้งดอกเบี้ยจ่ายและเงินปันผลในอีก 1 ปีข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ประมาณ 3 พันล้านบาท
ข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้และเงินกู้ยืมของบริษัทระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนไม่เกิน 3 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2567 บริษัทมีจำนวนเงินสดสุทธิจากหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยและสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า
โครงสร้างหนี้ ณ เดือนมีนาคม 2567 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นจำนวน 6.5 พันล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 31 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัท และหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อย ดังนั้น บริษัทจึงมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 0.5%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน บริษัทยังคงเป็นบริษัทย่อยหลักของ STA
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” เป็นไปตามแนวโน้มอันดับเครดิตของ STA โดยทริสเรทติ้งคาดว่าแผนธุรกิจและความสัมพันธ์ระหว่าง STA และบริษัทจะไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง ด้วยสถานะการเป็นบริษัทย่อยหลักของ STA อันดับเครดิตของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับสถานะอันดับเครดิตของ STA ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอันดับเครดิตของ STA หรือสถานะในกลุ่มของบริษัท จะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 67)
Tags: STGT, ทริสเรทติ้ง, ศรีตรังโกลฟส์, หุ้นกู้, อันดับเครดิต