คลัง เดินหน้าปลดล็อคสุราชุมชน-ขับเคลื่อนคาร์บอนด์เครดิต

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง มอบนโยบายให้กรมสรรพสามิต โดยได้มอบนโยบายในการเดินหน้าเรื่องสุราชุมชน ซึ่งสิ่งที่ต้องการเห็น คือ การปรับแก้กฎหมายกำกับทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ตลาดสุราขยายตัวและพัฒนาต่อไปได้ โดยมีผู้เล่นที่มากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการระดับบน ผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการระดับชุมชน-วิสาหกิจชุมชน ซึ่งทุกคนสามารถอยู่ได้ และสามารถผลักดันตลาดสุราของไทยให้ก้าวต่อไปได้ เพื่อให้เป็นซอฟท์พาวเวอร์ รวมถึงสามารถส่งออกได้

โดยกรมสรรพสามิต ต้องเร่งสร้างระบบรองรับที่เหมาะสม เพื่อเอื้อต่อตลาดให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้เข้มงวดเรื่องการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 8-9 เดือนที่ผ่านมา พบว่ายอดการปราบปรามเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี

รมช.คลัง ยังได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตเร่งหามาตรการระยะสั้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการระยะกลางและระยะยาว ได้มอบโจทย์ให้กรมฯ พิจารณาเรื่องกลไกภาษีเพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันและขับเคลื่อนต่อไปได้ รวมทั้งมอบหมายให้กรมฯ เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนเรื่อง ESG โดยเริ่มต้นจากการสร้างมาตรฐานคาร์บอนด์เครดิต

“กลไกเรื่องการสร้างมาตรฐานคาร์บอนด์เครดิตนั้น คงต้องมาหารือกันอีกที แต่เชื่อว่าจะเป็นกลไกที่มีความเหมาะสม และเป็นมาตรฐานสากล และจะกลายมาเป็นกลไกภาคบังคับที่ทำให้ตลาด ESG ของไทยมีการเติบโตมากขึ้น โดยวางเป้าหมายว่าในช่วงของการดำเนินการ 2-3 ปีแรกนั้น คาร์บอนด์เครดิตจะต้องไม่กระทบกับราคาพลังงานที่ประชาชนบริโภค” นายจุลพันธ์ ระบุ

รมช.คลัง กล่าวอีกว่า ในส่วนของการปรับโครงสร้างภาษียาสูบนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับการรายงาน แต่ยอมรับว่าปัจจุบันตัวเลขบุหรี่เถื่อนที่ทะลักเข้าไทยตอนนี้ ค่อนข้างสูง ประมาณ 20-25% คิดเป็นมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท ต้องเร่งกำกับให้รัดกุม โดยปัญหานี้เกิดจากการปรับโครงสร้างภาษีเมื่อหลายปีก่อน ทำใหีมีช่องว่างระหว่างราคาขายระดับบนกับระดับล่าง ทำให้เกิดแรงจูงใจในการลักลอบ ตรงนี้ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรม

*เร่งจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมาย

สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ในปีงบประมาณ 2567 นายจุลพันธ์ ยอมรับว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการลดภาษีน้ำมัน ซึ่งคนที่แบกรับคือกรมสรรพสามิต ดังนั้นการจัดเก็บที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายจึงเข้าใจได้ แต่กรมฯ ยืนยันว่าจะเดินหน้าขับเคลื่อนการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพต่อไป เพื่อให้ใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้มากที่สุด

“สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังพิจารณาปรับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 ของกรมสรรพสามิต เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนภาพรวมการจัดเก็บภาษีที่พลาดเป้านี้ ก็ไม่ได้ส่งผลกระทต่อเสถียรภาพทางการคลัง ประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้นมาโดยตลอด บางทีก็พลาดเป้า บางทีก็เกินเป้า สุดท้ายก็บริหารจัดการผ่านเงินคงคลังหรืออะไรก็ตาม มันไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่ทางกระทรวงการคลัง หรือสำนักงบประมาณให้ความเป็นห่วงแต่อย่างใด เพราะไม่ได้พลาดเป้าเยอะ” นายจุลพันธ์ กล่าว

ส่วนภาษีน้ำมัน และภาษีรถยนต์ที่จัดเก็บลดลงนั้น เป็นผลมาจากกลไกภาษีในการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการดึงดูดการลงทุนต่างประเทศผ่านกลไกภาษีของสรรพสามิต แต่สามารถดึงดูดการลงทุนได้กว่า 8 หมื่นล้านบาท และช่วยลดคาร์บอนได้ถึง 2.4 แสนตันคาร์บอนต่อปี

“ภาพต่อไปของ EV คือ ต้องมองภาพ EV ภาคการขนส่ง การสนับสนุนแบตเตอร์รี่ให้มีราคาเหมาะสม และจูงใจให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อให้ไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืนในเรื่องพลังงานสะอาด” นายจุลพันธ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top