EMC ปักธงปีนี้พลิกเป็นบวก ผนึกรัฐวิสาหกิจจีนลุยรับงานบิ๊กโปรเจ็คต์-ขุดที่ดินเก่าเสริมรายได้อสังหาฯ

นายชาลี จังวิจิตรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อีเอ็มซี (EMC) วางเป้าผลักดันผลงานปีนี้พลิกเป็นกำไร จากปีก่อนที่ขาดทุน 558.91 ล้านบาท หลังจากไตรมาส 1/67 เริ่มกลับมามีกำไรสุทธิราว 27.05 ล้านบาท

โดยคาดว่ารายได้จะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะการเติบโตของธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันมี Backlog ราวณ 1,400 ล้านบาทที่จะทยอยรับรู้รายได้กว่าครึ่งในปีนี้จนถึงไตรมาส 3/68 และยังเตรียมประมูลงานเพิ่ม ขณะที่ธุรกิจขายอสังหาริมทรัพย์ บริษัทได้นำทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอดีตมาดำเนินการอีกครั้ง

ขณะที่ล่าสุดบริษัทได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับโกลเด้น บริดจ์ คอนสตรัคชั่น (Golden BridgeConstruction) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ China Road and Bridge Corporation (CRBC) รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 1 ใน 4 แห่งแรกที่ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งรูปแบบการก่อสร้าง การลงทุน และการร่วมทุนกับรัฐบาล โดยมีสาขากว่า 60 แห่งทั่วโลก ทั้งในเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกา ซึ่งจะเข้ามาเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งและความพร้อมให้กับธุรกิจการก่อสร้างของ EMC ได้เป็นอย่างดี

จากความชำนาญทางด้านงานระบบเครื่องกลไฟฟ้าและประปา (Mechanical, Electrical, and Plumbing) ของ EMC มาอย่างยาวนาน เมื่อมาผนวกกับความแข็งแกร่งและประสบการณ์ของ CRBC ที่มีความชำนาญด้านงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โครงการสะพาน ท่าเรือ ทางรถไฟ สนามบิน อุโมงค์ ซึ่งเมื่อทั้งสองบริษัทได้มีความร่วมมือกัน จะยกระดับศักยภาพธุรกิจให้มีความพร้อมในการรับงานระดับประเทศได้

“การร่วมมือกันในครั้งนี้ ทำให้ EMC มีโอกาสในการรับงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน, โครงการรถไฟฟ้า, รถไฟทางคู่มอเตอร์เวย์, โครงข่ายคมนาคมขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ รวมถึงงานก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาคเอกชน เช่น กลุ่มอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง” นายชาลี กล่าว

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของทางภาครัฐที่จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3มูลค่า 36,000 ล้านบาท โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่า 9,000 ล้านบาท ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จากงบลงทุน 2.6 แสนล้านบาทเพื่อพัฒนา 6 ท่าอากาศยานในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) รวมถึงงานโครงการขนาดใหญ่ของเอกชน เช่น งานก่อสร้างโรงพยาบาลต่างๆ ของกลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอก, กลุ่มโรงพยาบาลสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และกลุ่มโรงพยาบาล วิภาราม-สินแพทย์ มูลค่างานรวมกว่า 8,700 ล้านบาท

สำหรับประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน บริษัทได้มีการปรับตัวโดยใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีเพื่อลดการใช้แรงงานให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันต้องสามารถก่อสร้างได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิการใช้ คอนกรีตสำเร็จรูป Precast อย่างไรก็ตามบริษัทควบคุมต้นทุนแรงงานอยู่เสมอ โดยพยายามควบคุมเพื่อให้ต้นทุนค่าแรงอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ขณะที่ธุรกิจการขายอสังหาริมทรัพย์บริษัทได้เร่งนโยบายในการวางแผนการตลาด และแผนส่งเสริมการขายในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มียอดขายเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ชะลอธุรกิจดังกล่าวไปในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบันบริษัทมีโครงการอยู่ราว 5 โครงการ และเตรียมที่จะทำมาดำเนินการอีกครั้งเพื่อสร้างรายได้ ทั้งการวางแผนส่งเสริมการขาย หรือดำเนินการสร้างต่อ ทั้งนี้สัดส่วนรายได้ของกลุ่มธุรกิจการขายอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 15% จากรายได้รวมของบริษัท

นายชาลี กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง หรือ EMCX ที่จะสร้างธุรกิจ New S-Curve อาทิ ธุรกิจเทคโนโลยีและไอที, ธุรกิจยูทิลิตี้ และธุรกิจ Oil & Gas ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนแต่งตั้ง IFA และแจ้งมติคณะกรรมการและยื่นเอกสารต่อตลาดหลักทรัพย์ โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นการจัดตั้งบริษัทภายในต้นปี 68 และนำ EMCx เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แทนหลักทรัพย์ EMC

ทั้งนี้ บริษัทจะเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน โดยมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering : RO) ในอัตรา 1 หุ้นสามัญ ต่อ 1 สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยผู้ถือหุ้นที่เพิ่มทุนจะได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) โดยไม่คิดมูลค่าในอัตรา 2 ต่อ 1 ทั้งนี้บริษัทได้เปิดจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม จนถึง 7 มิถุนายน 2567

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top