เงินบาทเปิด 36.87 อ่อนค่าจากแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง คาดกรอบ 36.70-37.00

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เช้านี้เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 36.87 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่า จากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 36.74 บาท/ดอลลาร์

เช้านี้เงินบาทเคลื่อนไหวตามค่าเงินในภูมิภาค และทิศทางตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก โดยปรับขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) จากแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งหุ้น ทองคำ และน้ำมันของนักลงทุน แล้วกลับไปถือครองดอลลาร์สหรัฐแทน

โดยเมื่อวานนี้ มีกระแสเงินทุนต่างประเทศ (Flow) ไหลออก หลังต่างชาติขายหุ้น 3 พันล้านบาท และขายพันธบัตร 1 พันล้านบาท

“บาทอ่อนค่า จากแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อกลับไปถือครองดอลลาร์ โดยช่วงนี้ ต้องติดตามทิศทางของบอนด์ยีลด์ และค่าเงินหยวน”

นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินฯ ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.70 – 37.00 บาท/ดอลลาร์

*ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยน อยู่ที่ระดับ 157.48 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 157.16 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0798 ดอลลาร์/ยูโร จากย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0854 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 36.675 บาท/ดอลลาร์
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2567 ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะฟื้นตัวกลับมาหรือไม่ หลังปรับตัวลดลงต่อเนื่องมานาน
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (29 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
  • ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เผยการต่อสู้ในฉนวนกาซาจะยังคงดำเนินไปอย่างน้อยอีก 7 เดือน หรือจนถึงสิ้นปี 2567
  • ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ระบุ ยูเครนควรได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธของชาติตะวันตก ในการโจมตีฐานทัพรัสเซีย ขณะที่ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวเตือนว่าจะมีผลลัพธ์ที่ร้ายแรงตามมา หากรัสเซียถูกโจมตีด้วยอาวุธของชาติตะวันตก
  • ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่เปิดเผยในวันนี้ ได้แก่ อียู : เปิดเผยอัตราว่างงานเดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค., สหรัฐ : เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2567 (ประมาณการครั้งที่ 2), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนเม.ย. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top