เอกชนหนุนประมูลคลื่นล่วงหน้าก่อนหมดอายุรองรับดีมานด์ในอนาคต

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนจัดสรรคลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทย ระยะ 5 ปี (2567-2571)

นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม กสทช. กล่าวว่า ในปี 2568 และ ปี 2570 ประเทศไทยจะมีคลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรรสำหรับกิจการโทรคมนาคมที่จะสิ้นสุดการอนุญาตให้ใช้งานแล้ว ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ในการนี้ สำนักงาน กสทช. ได้มีการศึกษาความความต้องการการใช้งานคลื่นความถี่ โดยใช้หลัก Spectrum Demand Model Using Mobile Traffic ซึ่งเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณความต้องการใช้คลื่นความถี่ และปริมาณ Traffic ของการรับส่งข้อมูล จากผลการศึกษาพบว่า ความต้องการต่อการใช้งานคลื่นความถี่ (Spectrum Demand) สำหรับคลื่นความถี่ย่านต่ำและคลื่นความถี่ย่านกลาง ปี พ.ศ. 2572 จะมีความต้องการที่ 739 MHz

ในขณะที่ปัจจุบันมีคลื่นความถี่ใช้งาน จำนวน 620 MHz และจะหมดอายุปีใน พ.ศ. 2568 จำนวน 120 MHz ดังนั้น เพื่อให้มีคลื่นความถี่เพียงพอต่อการใช้งานจึงต้องนำคลื่นความถี่ที่กำลังจะสิ้นสุดการอนุญาตในปี 2568 และปี 2570 รวมถึง คลื่นความถี่ที่รอการจัดสรรอยู่มาจัดสรรใหม่

สำหรับแผนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2567 – 2571) เบื้องต้น ได้พิจารณาแบ่งคลื่นความถี่เป็น 4 กลุ่ม คือ 1) คลื่นความถี่ที่กำลังจะสิ้นสุดการอนุญาต 2) คลื่นความถี่ที่ว่างและรอการจัดสรร 3) คลื่นความถี่ที่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการจัดสรร 4) คลื่นความถี่ที่กำลังศึกษา และได้จัดทำกรอบระยะเวลาเบื้องต้น ในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทย โดยเตรียมจัดสรรคลื่นในกลุ่มที่ 1) และ 2) ในปี พ.ศ. 2568 ประกอบด้วย 6 ย่านความถี่ ดังนี้ 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz

สำหรับคลื่นความถี่ย่านอื่น ๆ และทิศทางความต้องการการใช้งานคลื่นความถี่สำหรับ 5G Private Network นั้น นอกจากจะต้องมีการศึกษาถึงความพร้อมของระบบนิเวศทั้งในและต่างประเทศ (ในย่านความถี่3500 MHz และ 4800 MHz) ยังมีความจำเป็นต้องศึกษาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการปรับปรุงคลื่นความถี่มาใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลด้วย ในส่วนของคลื่นความถี่ย่าน 28 GHz นั้น จำเป็นต้องศึกษาการใช้ร่วมกัน ระหว่างกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลและกิจการดาวเทียมเฉพาะส่วน GSO Gateway และ NGSO Gateway ก่อนได้รับการจัดสรร

ในการรับฟังความคิดเห็นวันนี้ ผู้ร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะนำคลื่นความถี่มาประมูล โดยมีการกำหนดให้มีการจัดสรรในต้นปีหน้าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ให้บริการเตรียมตัวได้ โดยขอให้มีการศึกษาในรายระเอียดของคลื่นย่าน 1500 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz ซึ่งต้องการให้เพิ่มความยืดหยุ่นในคลื่น 1500 MHz และ 2300 MHz

นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับการจัดสรรคลื่นความถี่ล่วงหน้า (ก่อนจะสิ้นสุดระยะเวลาอนุญาต) จะช่วยทำให้การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีทำได้เร็วขึ้น จะเป็นการจัดสรรคลื่นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถออกแบบบล็อกของคลื่นให้ใหญ่ขึ้นมากกว่า 5 MHz เมื่อเอามาจัดสรรจะเหมาะกับความจำเป็นในการใช้งานมากกว่าการประมูลล่วงหน้าขอให้ทำให้เร็วที่สุด โดยสามารถประกาศหลักเกณฑ์ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้เพื่อให้การวางแผนการให้บริการทำได้ดีขึ้น

สำหรับการใช้งานคลื่นย่าน 3500 MHz เป็นย่านที่มีความสำคัญมากในอนาคต การนำคลื่นที่จะสิ้นสุดระยะเวลาอนญาตมาจัดสรรเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรมองถึงอนาคตที่จะนำคลื่นย่านอื่นที่จะรองรับเทคโนโลยีที่ต้องการคลื่นความถี่ย่านที่กว้าง นอกจากนี้ยังต้องวางแผนสำหรับการนำคลื่นความถี่ไปรองรับการใช้งาน 5G Private Network โดยควรออกบบรูปแบบการนำคลื่นความถี่ไปใช้งาน ให้เหมาะสม

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top