In Focus: จับตาเลือกตั้งอังกฤษ คาดตลาดหุ้นขานรับหากพรรคแรงงานโค่นอนุรักษ์นิยมสำเร็จ

ตลาดการเงินในยุโรปต่างประหลาดใจกับข่าวที่นายริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา และกำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 ก.ค. โดยนายซูนัคกล่าวว่าเขาตัดสินใจจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดหลังจากได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เพื่อขอพระบรมราชานุญาตในการประกาศยุบสภา

นายซูนัคแถลงข่าวสำคัญนี้ที่บริเวณด้านนอกของบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษในกรุงลอนดอน ท่ามกลางสายฝนที่ตกโปรยปราย โดยเขาให้คำมั่นว่าจะต่อสู้เพื่อให้ได้มาทุกคะแนนเสียง เพื่อที่เขาจะรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งจะปูทางให้พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) เข้าบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 5 โดยพรรคอนุรักษ์นิยมได้ทำหน้าที่บริหารประเทศมาตั้งแต่ปี 2553 และมีนายกรัฐมนตรี 5 คนในช่วงเวลาดังกล่าว

ในระหว่างการแถลงข่าว นายซูนัครู้ดีว่าอาจมีหลายฝ่ายพยายามตั้งคำถามถึงเหตุผลของการจัดเลือกตั้งก่อนกำหนด โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับการบริหารเศรษฐกิจ เขาจึงใช้พื้นที่หน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรีเป็นเวทียืนยันว่า อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและการที่เศรษฐกิจอังกฤษฟื้นตัวจากภาวะถดถอยนับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ เป็นข้อพิสูจน์ว่านโยบายที่เขากำหนดไว้นั้นมีประสิทธิภาพ พร้อมกับขอให้ประชาชนมอบความไว้วางใจให้กับพรรคอนุรักษ์นิยมในการเป็นผู้นำประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะไร้เสถียรภาพ

ถ้อยแถลงของนายซูนัคถือเป็นการส่งสารถึงประชาชนว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง และมีเพียงพรรคอนุรักษ์นิยมเท่านั้นที่สามารถรักษาเสถียรภาพนี้ไว้ได้ ขณะที่ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่า การที่นายซูนัคตัดสินใจยุบสภาและจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดจากเดิมที่รัฐบาลอังกฤษจะต้องจัดการเลือกตั้งภายในเดือนม.ค. 2568 นั้น อาจเป็นเพราะนายซูนัครู้ว่าคะแนนนิยมของพรรคอนุรักษ์นิยมไม่น่าจะดีขึ้นกว่าตอนนี้ และนี่อาจเป็นช่วงเวลาที่สุกงอมที่สุดที่จะเอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคแรงงาน (Labour Party)

ที่ผ่านมานั้น การเลือกตั้งในอังกฤษมักจะมีผลต่อความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินทั่วทั้งยุโรปโดยเฉพาะตลาดหุ้นลอนดอน โดยสำนักข่าวซีเอ็นบีซีได้รวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบของการเลือกตั้งที่จะมีต่อตลาด

 

ตลาดหุ้นลอนดอนอาจมีปฏิกิริยาเชิงบวก หากพรรคแรงงานโค่นพรรคอนุรักษ์นิยมสำเร็จ

ในขณะที่วันเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษใกล้เขามา โพลหลายสำนักบ่งชี้ว่าพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคซีกกลาง-ซ้ายอาจกลับมาบริหารประเทศอีกครั้งหลังจาก 14 ปีให้หลัง โดยนักวิเคราะห์หลายรายมองว่า ตลาดหุ้นลอนดอนจะมีปฏิกิริยาเชิงบวก หากผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคแรงงานได้รับชัยชนะ และต่อให้พรรคแรงงานไม่ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา ก็เชื่อว่าทางพรรคจะหันไปจับมือกับพรรคขนาดเล็กในการจัดตั้งรัฐบาลผสม นอกเสียจากว่าพรรคอนุรักษ์นิยมจะสร้างเซอร์ไพรส์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งพ่วงกับเสียงข้างมากในรัฐสภาด้วย

 

นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ปได้ทำการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นลอนดอนตั้งแต่ปี 2522 พบว่า ในอดีตที่ผ่านมานั้น ตลาดหุ้นค่อนข้างปรับตัวในกรอบแคบไปจนถึงชะลอตัวลงในช่วง 6 เดือนหลังการเลือกตั้งจบลง โดยการวิจัยดังกล่าวไม่นับรวมเหตุการณ์ตลาดหุ้นร่วงลงเนื่องจากการทรุดตัวของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี (DotCom Crash) และวิกฤตการณ์การเงินครั้งใหญ่ (Great Financial Crisis)

ซิตี้กรุ๊ประบุว่า ดัชนี MSCI UK Index ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนขนาดกลาง เคยพุ่งขึ้นราว 6% ในช่วง 6 เดือนหลังจากพรรคแรงงานได้รับชัยชนะ และร่วงลงราว 5% หลังจากพรรคอนุรักษ์นิยมได้รับชัยชนะ

ทั้งนี้ ซิตี้กรุ๊ปมองว่า ยิ่งดัชนี FTSE 250 อยู่ในทิศทางที่โดดเด่นมากกว่าดัชนี FTSE 100 หลังการเลือกตั้งมากเท่าใด ดัชนี FTSE 250 ก็มีโอกาสที่จะแข็งแกร่งขึ้นอีกหากพรรคแรงงานได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยคาดว่าหุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) และหุ้นกลุ่มการเงินมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มปรับตัวผันผวน

 

“วินัยการคลัง” – ประเด็นที่พรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยมต้องสร้างศรัทธาประชาชน

แกนนำพรรคแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนางราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีเงากระทรวงการคลังของพรรคแรงงาน และนายเคียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคแรงงาน ได้เน้นย้ำหลายครั้งในปีที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะมุ่งเน้นการสร้างวินัยด้านการคลัง และตั้งเป้าที่จะลดหนี้สินของประเทศ โดยนางรีฟส์ซึ่งเป็นอดีตนายธนาคารพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้บริหารในภาคธุรกิจยอมรับพรรคแรงงาน รวมทั้งเข้าร่วมประชุมในวาระต่าง ๆ เช่น การประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เมืองดาวอส

นายซี.เอส. เวนคตริษนันท์ ซีอีโอของธนาคารบาร์เคลยส์กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ความเสี่ยงด้านการเงินในอังกฤษมีน้อยกว่าในอดีตที่ผ่านมา และความแตกต่างของนโยบายเศรษฐกิจระหว่างพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยมก็ค่อนข้างน้อย

อย่างไรก็ดี ซีอีโอของบาร์เคลยส์กล่าวว่า นักการเมืองของพรรคแรงงานได้แสดงออกอย่างชัดเจนในแคมเปญหาเสียงปัจจุบันว่า พวกเขาพร้อมที่จะกล่าวโทษพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นต้นเหตุทำให้หนี้สินปรับตัวสูงขึ้นและสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของอังกฤษ ในช่วงที่นายซูนัคดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์

 

จับตาแนวโน้มเงินปอนด์หลังการเลือกตั้ง

จอห์น ฮิกกินส์ นักวิเคราะห์จากบริษัทแคปิตอล อิโคโนมิกส์กล่าวว่า ข้อมูลจากสถิติพบว่าในยุคที่รัฐบาลอังกฤษอยู่ภายใต้การบริหารของพรรคแรงงานเมื่อช่วง 100 ปีที่ผ่านมานั้น เงินปอนด์ของอังกฤษทรุดตัวลงรุนแรงถึง 5 ครั้ง และคาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง

ฮิกกินส์ระบุว่า เหตุการณ์เงินปอนด์ทรุดตัวจำนวน 3 ครั้งเคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 และ 1970 ส่วนครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์การเงินครั้งใหญ่ (Great Financial Crisis) และครั้งที่ 5 เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดวิกฤตหนี้สิน (Debt Crisis) เมื่อปี 2519

นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า การที่พรรคการเมืองต่าง ๆ มีนโยบายการคลังที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้น หมายความว่าแนวโน้มของเงินปอนด์และพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษจะมีความเชื่อมโยงกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น

โจ ทักคีย์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ด้านปริวรรตเงินตราของบริษัทอาร์เจนเท็กซ์ กรุ๊ป (Argentex Group) กล่าวว่า “ตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศมักจะมีปฏิกิริยาที่รุนแรงมากที่สุดเมื่อเกิดความไม่แน่นอนในช่วงการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี มุมมองนี้อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้กับสถานการณ์ในปัจจุบัน เราคาดการณ์ว่าเงินปอนด์อาจจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และคาดว่าตลาดแทบจะไม่มีปฏิกิริยาต่อผลการเลือกตั้ง”

 

พรรคอนุรักษ์นิยมอาจตกที่นั่งลำบาก หลังผู้นำธุรกิจกว่า 100 รายร่วมวงหนุนพรรคแรงงาน

ผู้นำธุรกิจมากกว่า 100 รายได้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกเพื่อแสดงการสนับสนุนพรรคแรงงาน ก่อนที่การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 4 ก.ค.นี้

บรรดาผู้นำธุรกิจซึ่งรวมถึงนายจิมมี เวลส์ ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย (Wikipedia) และนายชาร์ลส์ ฮาร์แมน อดีตรองประธานเจพี มอร์แกน คาเซโนฟ (JP Morgan Cazenove) ได้ระบุในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวถึงหนังสือพิมพ์เดอะไทม์ส โดยระบุว่า เศรษฐกิจอังกฤษได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซามานานนับสิบปี เนื่องจากขาดเสถียรภาพทางการเมืองและกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่สม่ำเสมอในระยะยาว และชี้ว่า อังกฤษขาดทักษะและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ก็ได้กล่าวยกย่องพรรคแรงงานที่แสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อบรรลุศักยภาพทางเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างเต็มที่

 

“ซูนัค” เปิดหน้าสู้ ชูนโยบายเกณฑ์ทหาร-ลดภาษีเงินบำนาญสู้ศึกเลือกตั้ง

พรรคอนุรักษ์นิยมภายใต้การนำของนายซูนัคประกาศว่าจะกลับมาบังคับให้ชาวอังกฤษเข้ารับใช้ชาติ (National Service) อีกครั้ง หากพรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้ง โดยระบุว่าประชาชนอายุ 18 ปีจะมีสองทางเลือกระหว่างการเข้ารับราชการทหารเต็มเวลา หรือสมัครใจทำงานบริการชุมชน 2 วันของทุกเดือน โดยจะเป็นการทำงานในวันหยุดเสาร์อาทิตย์

นายซูนัคได้แสดงความเชื่อมั่นว่าต่อนโยบายดังกล่าว โดยกล่าวว่า “อังกฤษเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสหรือประสบการณ์ที่ควรได้รับ ผมมีแผนชัดเจนในการรักษาอนาคตของเราเอาไว้ โดยผมจะใช้นโยบายรับใช้ชาติรูปแบบใหม่เพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกันในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของเรา และนำความภาคภูมิใจในประเทศชาติของเรากลับมาอีกครั้ง”

อังกฤษเริ่มเกณฑ์ทหารในปี 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในสมัยที่รัฐบาลพรรคแรงงานปกครองประเทศภายใต้การนำของนายคลีเมนต์ แอตต์ลี นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ทำให้ชายอายุ 17-21 ปีต้องเข้ากองทัพเป็นเวลา 18 เดือน ก่อนยุติการเกณฑ์ทหารไปในปี 2503

นอกจากนโยบายการเกณฑ์ทหารแล้ว นายซูนัคยังได้เสนอให้มีการปรับลดภาษีสำหรับผู้รับเงินบำนาญจำนวนหลายล้านคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านายซูนัคให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมจะเสนอการให้เบี้ยเลี้ยงใหม่โดยอิงตามอายุของผู้รับเงินบำนาญและปรับลดภาษีสำหรับผู้รับเงินบำนาญราว 100 ปอนด์ (128 ดอลลาร์) สำหรับผู้รับเงินบำนาญแต่ละรายรวม 8 ล้านรายในปี 2568 และจากนั้นการลดภาษีจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับเกือบ 300 ปอนด์ต่อปีภายในสิ้นสุดวาระของรัฐสภาสมัยหน้า

นายซูนัคกล่าวว่า “การดำเนินการเชิงรุกนี้แสดงให้เห็นว่าเรายืนเคียงข้างบรรดาผู้รับเงินบำนาญ แต่ในทางตรงกันข้าม พรรคแรงงานจะทำให้ประชาชนทุกคนที่ได้รับเงินบำนาญของรัฐเต็มจำนวนต้องจ่ายภาษีเงินได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์”

อย่างไรก็ดี พรรคแรงงานยืนยันว่าจะขัดขวางนโยบายดังกล่าวของนายซูนัค แม้นโยบายนี้นี้มีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้ผู้รับเงินบำนาญของอังกฤษต้องเผชิญกับภาวะยากจนก็ตาม

 

ทั้งนี้ เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษจะเปิดฉากขึ้น ขณะที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายซูนัคเลือกวันเลือกตั้งของอังกฤษเป็นวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งตรงกับวันชาติของสหรัฐนั้น อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงนัยทางการเมืองระหว่างอังกฤษและสหรัฐซึ่งเป็นสองชาติพันธมิตรที่แน่นแฟ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมียุทธศาสตร์ทางการเมืองที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งรวมถึงการผนึกกำลังจัดตั้งกองกำลังทหารชุดพิเศษเพื่อรับมือกับกลุ่มกบฏฮูตีที่ก่อเหตุโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง และการร่วมมือกันต่อต้านอิทธิพลของจีนในอินโดแปซิฟิก

 

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ค. 67)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top