ราคาหุ้น STA นำกลุ่มยางรับราคายางปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากวานนี้ที่ตอบรับราคายางปรับตัวสูงขึ้น
เมื่อเวลา 10.20 น.
STA พุ่ง 9.09% หรือสูงขึ้น 1.80 บาท มาที่ 21.60 บาท มูลค่าซื้อขาย 524.63 ล้านบาท
TRUBB ปรับขึ้น 7.30% หรือสูงขึ้น 0.10 บาท มาที่ 1.47 บาท มูลค่าซื้อขาย 46.87 ล้านบาท
TEGH ปรับขึ้น 5.37% หรือสูงขึ้น 0.16 บาท มาที่ 3.14 บาท มูลค่าซื้อขาย 17.80 ล้านบาท
NER ปรับขึ้น 1.68% หรือสูงขึ้น 0.10 บาท มาที่ 6.05 บาท มูลค่าซื้อขาย 57.84 ล้านบาท
จากนั้นราคา STA ทะยานขึ้นต่อเนื่องมาทำจุดสูงสุดที่ 23.90 บาท เมื่อเวลา 10.59 น.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน
บล.กรุงศรี มีมุมมองบวกจากประชุมนักวิเคราะห์ และปรับคำแนะนำหุ้น บมจ.ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี (STA) เป็น Trading Buy พร้อมปรับราคาเป้าหมายปี 67 มาที่ 20.40 บาท และปี 68 ที่ 23.40 บาท เราชอบความโดดเด่นในการเข้าหาตลาดยาง EUDR ที่ไทยมีศักยภาพของวัตถุดิบยาง EUDR ซึ่ง STA เป็นผู้ผลิตยางที่มีระบบข้อมูลเป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตยางล้อยุโรปที่เป็นลูกค้าเดิมของ STA อยู่แล้ว
ทั้งนี้ ราคายาง EUDR จะสูงกว่าราคายางธรรมดาราว 14% และ STA ตั้งเป้าสัดส่วนขายยาง EUDR 10% ของปริมาณขายในเดือน ก.ค.67 และเพิ่มเป็น 50% ในเดือน ธ.ค.67 ทำให้แนวโน้มการเติบโตมาร์จิ้นและกำไรสุทธิฟื้นตัวโดดเด่นในปี 67 นับว่า STA เป็นหุ้นที่เด่นในกลุ่มเกษตร
STA ประเมินว่าสหภาพยุโรป (EU) จะต้องการยางมาตรฐาน EUDR ปีละ 4 ล้านตัน ขณะที่ยางของไทยที่ผลิตได้ปีละ 4-5 ล้านตันมีศักยภาพเข้ามาตรฐาน EUDR และเด่นกว่าประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย และ ไอเวอรี่โคส ซึ่งสามารถผลิตยาง EUDR ได้รวม 1 ล้านตัน
แนวโน้มราคายาง EUDR ยังสูงกว่ายางแท่ง SICOM โดยราคายาง EUDR กำหนดแบบ cost plus ปัจจุบันอยู่ที่ 2.05 เหรียญสหรัฐ/กก. ขณะที่ยางแท่ง SICOM อยู่ที่ 1.80 เหรียญสหรัฐ/กก. STA อธิบายว่ายาง EUDR จะให้ GPM (Gross profit margin) ราว 15% ขณะที่ยางธรรมดาจะมี GPM ราว 8-10%
อีกทั้งแนวโน้มราคายางเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1/67 ราคายางอยู่ที่ 1.57 เหรียญสหรัฐ +8%qoq ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาที่ 1.80 เหรียญสหรัฐ +14%qoq เพราะเร่งสต๊อกยางของลูกค้ายุโรปและสหรัฐ ขณะที่จีนยังซื้อไม่มาก ปัจจุบันจีนคาดมีสต๊อกยางราว 6 แสนตัน (เท่ากับการใช้ 1.5 เดือน) ดังนั้น แนวโน้มราคายางอาจเพิ่มขึ้นต่อเมื่อจีนกลับมาซื้อยางอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิ.ย.เป็นต้นไป ผลผลิตยางจะเข้าสู่ตลาดมากขึ้นรองรับความต้องการที่เริ่มเพิ่มขึ้น
ขณะที่ผลผลิตยางไทยปี 67 คาดจะเพิ่มขึ้นจากปี 66 (4.5 ล้านตัน) สังเกตจากปีนี้เริ่มเปิดกรีดยางปลายเดือน พ.ค. เร็วกว่าปี 66 ที่เปิดเดือน ก.ค. ส่วนความกังวลผลกระทบลานีญา ให้จับตาดูปลายปี 67 หากฝนตกพอดีผลผลิตปีนี้จะดีตามคาด แต่หากฝนตกมากเกินไปจะเป็นอุปสรรคของการกรีดจะทำให้ผลผลิตยางปลายปีลดลง
STA มีแผนเพิ่มกำลังการผลิต จาก 3.62 ล้านตันในปี 66 เป็น 3.67 ล้านตัน / 4.14 ล้านตัน ในปี 67-68 ทั้งนี้ ไตรมาส 1/67 และคาดปี 67 จะมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 57% แผนการสร้างโรงงานในปี 67 ประกอบด้วยไทย 2 โรงงาน ไอเวอรี่โคส 1 โรงงาน เมียนมา 1 โรงงาน กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นรวม 2.3 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 7%
เป้าหมายของ STA ในปี 67 ตั้งเป้าปริมาณขาย 1.5 ล้านตันเพิ่มจาก 1.3 ล้านตันในปี 66 และเน้นการขายยาง EUDR เพิ่ม โดยส่งยาง EUDR ครั้งแรกในไตรมาส 2/67 ปริมาณราว 1.5 หมื่นตัน หรือ 5% ของปริมาณขายในไตรมาส 2/67 ก่อนจะเพิ่มเป็น 12% ในไตรมาส 3/67 และ 50% ในเดือนธ.ค.67 ปัจจุบัน STA มีระบบ ERP และระบบการซื้อแบบ paperless กำลังบันทึกโปรไฟล์เกษตรกรเข้าระบบ ส่วนราคาขายยางคาดเพิ่มขึ้น q-q ทั้งในไตรมาส 2/67 และไตรมาส 3/67
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในวันนี้ว่า ตัวเลขการสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ระบบ GSP ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.67 มีมูลค่ารวม 480.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 56.92% โดยมีการใช้สิทธิฯ ส่งออกไปยังสหรัฐสูงสุด 444.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 62.17% โดยมีสินค้า “ถุงมือยาง” เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 30%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ค. 67)
Tags: STA, ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี, หุ้นไทย