สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 91.3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยหนี้เสียธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.88% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.79% ในไตรมาสก่อน ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงในทุกประเภท ติดตามสินเชื่อบัตรเครดิต-แนวโน้มหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะสินเชื่อวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท
*สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มมาที่ 91.3% จากไตรมาสที่ผ่านมา
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 4/66 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3% ชะลอลงจาก 3.4% ของไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 91.3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อยานยนต์หดตัว ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้อยลงทุกประเภท โดยหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.88% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.79% ในไตรมาสก่อน
“เรื่องสินเชื่อบัตรเครดิต เป็นเรื่องที่เฝ้าระวังมานานแล้ว และขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกวันนี้ทุกอย่างผ่อนได้ผ่านบัตรเครดิต และได้ส่วนลดด้วย จึงทำให้หนี้บัตรเครดิตพุ่งสูง อย่างไรก็ดี เรื่องบัตรเครดิตไม่ใช่เรื่องของธนาคารเพียงอย่างเดียว ธนาคารทำได้แค่การดูเงื่อนไขมากขึ้นกว่าเดิม แต่เป็นเรื่องยากถ้าต้องไปดูแล Ecosystem การซื้อขายในระบบ คนขาย และห้างสรรพสินค้า” นายดนุชา กล่าว
*เฝ้าระวังสินเชื่อบ้านต่ำ 3 ล้าน ห่วงหนี้เสียขยับเพิ่ม
ขณะที่แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในสินเชื่อที่อยู่อาศัยวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นหนี้ของครัวเรือนรายได้ระดับปานกลางหรือล่าง โดยอาจต้องเฝ้าระวัง และเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสีย
“หนี้เสียของที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นมาจากทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาของลูกหนี้ เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ คือพยายามต้องทำให้เขายังมีบ้านอยู่ได้ ถ้าบ้านหลุดมือไปความมั่นคงในชีวิตก็จะหายไป และจะเกิดปัญหาต่อเนื่องมาอีกหลายอย่าง ตอนที่หนี้ครัวเรือนเริ่มขยับขึ้นตั้งแต่เมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว เริ่มจากมีโครงการบ้านหลังแรก ซึ่งเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร แต่หนี้ครัวเรือนมาพุ่งช่วงโควิด-19 ซึ่งช่วงที่มีการก่อหนี้โครงการบ้านหลังแรกเศรษฐกิจไม่ได้เป็นลักษณะแบบนี้ สภาพเศรษฐกิจไทยยังโตได้ค่อนข้างดี ส่วนตอนนี้มีปัญหาผสมกันหลายเรื่อง ทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจภายใน หนี้ครัวเรือน ภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ในเรื่องของบ้านในทางทฤษฎีเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ซึ่งเป็นการผ่อนระยะยาว ทำให้คนมีความมั่นคง ซึ่งระหว่างนี้ถ้าเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นมาก็ต้องมาแก้” นายดนุชา กล่าว
การเร่งรัดสถาบันการเงินประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มลูกหนี้เรื้อรังเข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 67 โดยอาจต้องเร่งสื่อสาร พร้อมมีแนวทางการปิดจบหนี้ที่เหมาะสมกับลูกหนี้รายกรณี เพื่อให้การดำเนินมาตรการประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน
*การจ้างงาน Q1/67 ลดลงเล็กน้อยในภาคเกษตร ตามฤดูกาล/นอกภาคเกษตรยังขยายตัวดี
ขณะที่ภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/67 พบว่า ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.1% ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงกว่า 5.7% ในช่วงนอกฤดูการทำเกษตรกรรม
ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ที่ 2.2% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.6% จากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 9.3 ล้านคน เช่นเดียวกับสาขาการก่อสร้างที่ขยายตัวกว่า 5%
ทั้งนี้ การจ้างงานสาขาการผลิตเริ่มปรับตัวดีขึ้นที่ 0.7% ชั่วโมงการทำงานลดลงตามการลดการทำงานล่วงเวลา โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 41.0 และ 44.0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งผู้ทำงานล่วงเวลาลดลงกว่า 3.6% และผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น 11.6% การว่างงานทรงตัว อยู่ที่ 1.01% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่
1. การขาดทักษะของแรงงานไทยที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยผลการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พบว่า เยาวชนและกลุ่มวัยแรงงานของไทยจำนวนมากมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์
2. ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม ซึ่งกองทุนฯ มีแนวโน้มจะต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุมากขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยในปี 2575 อาจมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพมากถึง 2.3 ล้านคน
3. การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น โดยช่องว่างระหว่างค่าจ้างแรงงานและ GDP มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ยังมีทักษะไม่สูงและทำงานในสาขาที่มีผลิตภาพแรงงานไม่มากนัก จึงได้รับค่าจ้างน้อย ทั้งนี้ ผลิตภาพแรงงานไทยในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ค่าจ้างจึงยังปรับตัวได้ไม่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานทักษะปานกลางที่ส่วนใหญ่ทำงานลักษณะงานประจำ
“ผู้มีงานทำที่ลดลง 0.1% ยังไม่น่ากังวล เพราะเป็นการลดลงในภาคเกษตร ลดตามฤดูกาล และเพิ่งลดลงครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1/65 ส่วนการทำงานในสาขาเศรษฐกิจสำคัญยังเพิ่มขึ้นอยู่ สำหรับประเด็นเรื่องแรงงานขาดทักษะนั้น จะกระทบ Productivity ของไทยที่ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2% กว่า ซึ่งควรอยู่ที่ 3% กว่าๆ ดังนั้น ถ้าไม่สามารถพัฒนาทักษะแรงงานให้สูงขึ้น ก็จะเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้” นายดนุชา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 67)
Tags: สภาพัฒน์, สศช., หนี้ครัวเรือน, หนี้บัตรเครดิต