นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หนึ่งในกลุ่ม 40 สว.ที่ร่วมลงชื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คาดว่า กระบวนการพิจารณาไต่สวนคำร้องคดีดังกล่าวไม่น่าจะเกิน 3 เดือน เนื่องจากคำร้องคดีในลักษณะนี้ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนมากนัก ข้อเท็จจริงที่เป็นพยานหลักฐานคดีปรากฏอยู่ในคำร้องค่อนข้างครบถ้วนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีพยานเข้ามาเพิ่มเติมบ้างจากการพิจารณาไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ หรือจากการฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา หรือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำชื่อนายพิชิต ชื่นบาน ขึ้นทูลเกล้าฯ
“คิดว่าการพิจารณาไต่สวนคำร้อง ไม่เกิน 3 เดือนก็น่าจะมีการนัดฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามไทม์ไลน์ที่เคยพิจารณาก่อนหน้านี้” นายประพันธ์ กล่าว
ส่วนการเปิดห้องไต่สวนพิจารณาคำร้องเพื่อเรียกบุคคลต่างๆ มาให้ถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น อาจเป็นไปได้ ศาลรัฐธรรมนูญอาจต้องการให้การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างรอบคอบ และให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนมากที่สุด เพราะประเด็นตามคำร้องมีผลกระทบต่อสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ของบุคคลสำคัญที่เป็นถึงระดับนายกรัฐมนตรี ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ผู้ถูกร้องสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญก็คงต้องการให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้
นายประพันธ์ กล่าวว่า หากผลของคดีออกมาเป็นโทษกับผู้ถูกร้อง คือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะตัว และอาจมีผลไปถึงการเมืองในภาพรวมที่จะให้มีการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง ก็มีแค่ 2 กรณีเท่านั้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คือ มีโอกาสทั้งการเปลี่ยนนายกฯ หรือไม่ก็ยังเป็นนายกฯ คนเดิม และศาลยกคำร้อง ซึ่งนายเศรษฐา ก็ทำหน้าที่นายกฯ ต่อไป ถ้าจะเปลี่ยนแปลงการเมืองใดๆ ก็อาจด้วยเหตุอื่น ไม่ใช่เหตุจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
“แม้จะไม่ได้สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ถือว่านายกรัฐมนต รียังอยู่บนพื้นฐานความเสี่ยงที่จะต้องพิจารณาว่าท้ายที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือศาลรัฐธรรมนูญจะยกคำร้อง ทั้งหมดก็อยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะต้องรอฟังผลการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ตอนนี้ ถือว่านายกฯ ยังติดบ่วงอยู่ ยังมีความเป็นไปได้ 50-50 ที่จะหลุด หรือไม่หลุดจากตำแหน่ง” นายประพันธ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีบุคคลเข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมเอกสารหลักฐานภาพข่าว ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เพื่อขอให้ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ช่วยตรวจสอบกรณีการปลอมลายเซ็นของ สว.ที่ร่วมลงชื่อนั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า เป็นความพยายามของกลุ่มที่ต้องการดิสเครดิตการทำหน้าที่ของ สว.
ประเด็นปัญหาของเรื่องนี้ คือ บุคคลดังกล่าวเป็นใคร ที่อ้างตัวว่าเป็นทนายความ ต้องถามว่าคุณเสียหายอะไร เรื่องนี้คุณไม่ใช่ผู้เสียหาย แล้วมาอ้างว่าเป็นทนายจากสำนักงานบางแห่งไปเที่ยวร้องให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบ ทั้งที่ไม่ใช่ผู้เสียหาย และเรื่องนี้ในความเป็นจริง หากมี สว.คนใดได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าวว่ามีการปลอมแปลงลายเซ็น หรือมีการแอบอ้างลายเซ็นในคำร้อง มีการเอาชื่อไปใส่ในคำร้อง แล้วเหตุใดป่านนี้ สว.ที่ถูกอ้างชื่อดังกล่าวถึงยังไม่ออกมาแสดงตัว
นายประพันธ์ ยืนยันว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ไม่ได้วิตกอะไร เพราะคนที่เซ็นชื่อในคำร้องก็ลงด้วยความสง่างาม และไม่ได้คิดว่าจะต้องเปิดเผยหรือโฆษณาให้สาธารณะชนรู้ว่ามีใครเซ็นบ้าง ซึ่งการไม่เปิดเผย ก็ไม่ได้เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง แต่การเปิดเผยต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะเปิดหรือไม่เปิดเผยชื่อก็ได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 67)
Tags: การเมือง, ประพันธ์ คูณมี, ศาลรัฐธรรมนูญ, เศรษฐา ทวีสิน