สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (23 พ.ค.) ซึ่งเป็นการปิดในแดนลบติดต่อกันวันที่ 4 เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานและส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน
- ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 70 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 76.87 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 54 เซนต์ หรือ 0.66% ปิดที่ 81.36 ดอลลาร์/บาร์เรล
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนพ.ค.ของสหรัฐ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 54.4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 25 เดือน จากระดับ 51.3 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐ
รายงานของเอสแอนด์พี โกลบอลยังระบุว่า กลุ่มผู้ผลิตรายงานว่าต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง ตั้งแต่โลหะ เคมีภัณฑ์ พลังงาน ไปจนถึงต้นทุนแรงงาน ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ บริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐมีแนวโน้มที่จะผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นนี้ไปให้ผู้บริโภคด้วยการปรับขึ้นราคาขายสินค้า
ข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่าเฟดอาจจะตรึงอัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูงเป็นเวลานานและส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน หลังจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (22 พ.ค.) ตลาดได้รับแรงกดดันจากรายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.ซึ่งระบุว่า กรรมการเฟดได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและไม่มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงมากพอที่จะทำให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่
ราคาน้ำมันยังได้ปัจจัยลบจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ดี สต็อกน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ลดลง 900,000 บาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 700,000 บาร์เรล
นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 1 มิ.ย. โดยคาดว่าที่ประชุมยังคงมีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันต่อไปในครึ่งปีหลัง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 67)
Tags: WTI, น้ำมัน, ราคาน้ำมัน