TPCH ปักธงส่ง “สยาม พาวเวอร์” เข้าตลาดหุ้นปี 68 จ่อเซ็น PPA โรงไฟฟ้าขยะ SPNK พร้อมลุยอีก 4 โปรเจ็คต์

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรก ยังมีทิศทางที่ดี เนื่องจากบริษัทฯ มุ่งพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทน ประเภทพลังงานขยะ ประมาณ 4 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด และ TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ประกอบด้วย SP4-SP7 เป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer) เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัทฯ

ขณะเดียวกัน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ นากลาง (SPNK) ขององค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง ตั้งอยู่ที่ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้ในเร็วๆ นี้ ล่าสุด โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ หนองสาหร่าย (SPNS) มีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 9.9 เมกะวัตต์ ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะ SCOD ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2569

“TPCH มีแผนที่จะนำ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่า ในปี 2568 ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการศึกษาตามหลักเกณฑ์ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้กับบริษัทฯ ได้ในอนาคต พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังคงทำงานอย่างเต็มศักยภาพ มุ่งพัฒนาและควบคุมการบริหารเชื้อเพลิงและต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ปรับกลยุทธ์ให้ทันต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและพลังงานขยะ ทั้ง 8 แห่ง สามารถเดินเครื่องได้ตามปกติ และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ จึงมั่นใจว่า รายได้ในปีนี้จะเติบโต 10% จากปีก่อน” นางกนกทิพย์กล่าว

ด้านนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPCH กล่าวว่า สำหรับการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนใน สปป.ลาว บริษัทฯ ได้เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จำกัด (MKP) ในสัดส่วน 40% ที่ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว และ MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันได้มีการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมก่อสร้างและได้เริ่มงานด้านโครงสร้างและรั้วกั้นโซนติดตั้งสถานีไฟฟ้า (Substation) และมีการเซ็นสัญญางานวิศวกรรม งานจัดซื้อ และงานก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction (EPC Contract)) กับผู้รับเหมาจากประเทศจีน ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาช่วง คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส 2/2567 รวมทั้ง มีแผนที่จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งโครงการ

ส่วนการลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต โดยตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ 180-200 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลม ประมาณ 50-100 เมกะวัตต์

“การเข้าลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศยังมีช่องทางการขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากในกลุ่มประเทศ CLMV มีความต้องการพลังงาน Renewable energy สูง เป็นโอกาสให้บริษัทฯ ได้พัฒนาโครงการต่อไปได้อีก” นายเชิดศักดิ์กล่าว

ปัจจุบัน TPCH มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 99.4 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและพลังงานขยะทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าในประเทศ 150 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานชีวมวล 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะ 70 เมกะวัตต์ รวมทั้งโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ 350 เมกะวัตต์

สำหรับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/67 บริษัทมีกำไรสุทธิ 98.41 ล้านบาท และมีรายได้รวม 621.69 ล้านบาท ภาพรวมยังสามารถทำผลงานได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ครบ 8 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG มีกำลังการผลิตติดตั้ง 80 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ นนทบุรี (SPNT) ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ SPNT สามารถเดินเครื่อง เฉลี่ย 79% มีการปรับปรุงแก้ไขเครื่องจักรให้สามารถเดินเครื่องได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top