จากที่สหรัฐฯ ประกาศปรับเพิ่มอัตราภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนอีก 25%-100% ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเป็นต้นไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขึ้นภาษีรอบนี้พุ่งเป้าที่อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนเป็นหลัก ทำให้น่าจะจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนรอบใหม่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมูลค่านำเข้าสินค้าที่ถูกเก็บภาษีเพิ่มในปี 2567 คิดเป็นสัดส่วนราว 5.4% ของการนำเข้ารวมทุกสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ ผลกระทบต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯในปีนี้จึงจำกัด ขณะที่ ในรายการที่สหรัฐฯ มีการพึ่งพาการนำเข้าจากจีนสูง อย่าง Lithium-ion batteries ทั้งสหรัฐฯ และจีนน่าจะสามารถบริหารจัดการผลกระทบได้
ในวันที่ 14 พ.ค. 2567 สหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีใหม่ที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจากจีน โดยเป็นการทยอยเพิ่มการจัดเก็บในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยในปี 2567 มีรายการสำคัญๆ ที่สหรัฐฯ มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากจีน ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียม ยานยนต์ไฟฟ้า Lithium-ion EV batteries Solar Cells แร่ธาตุสำคัญ สินค้าเวชภัณฑ์อย่างชุด PPE หน้ากาอนามัย เข็มฉีดยาและไซริงค์
มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จากจีนรอบนี้ สะท้อนท่าทีสหรัฐฯ ที่ต่อต้านอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนทั้งพลังงานสะอาดและเทคโนโลยี (Geopolitics) รวมถึงมุ่งหวังผลคะแนนนิยมทางการเมืองของประธานาธิบดีไบเดนก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ โดยเฉพาะในรัฐที่เป็น Swing States อย่างจอร์เจีย แอริโซนา เนวาดา และมิชิแกน ซึ่งเป็นรัฐที่กำลังมีการลงทุนห่วงโซ่อุปทาน BEV ภายใต้เงินสนับสนุนจากกฎหมายการลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ของสหรัฐฯ
ผลกระทบต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในปี 2567 นี้ยังจำกัด เนื่องจากรายการสินค้านำเข้าจากจีนที่อยู่ในแผนการจัดเก็บภาษีเพิ่มปี 2567 นี้ มีมูลค่านำเข้าโดยรวมจากจีนยังไม่มาก คิดเป็นสัดส่วนราว 5.4% ของการนำเข้ารวมทุกสินค้าจากจีน อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีจะครอบคลุมรายการสินค้าอื่นมากขึ้นในปี 2568-2569 ได้แก่ Semiconductors, Lithium-ion non-EV Batteries, Natural Graphite and Permanent Magnets, Rubber Medical and Surgical Gloves ทำให้ผลกระทบต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจมีมากขึ้นในช่วงถัดไป โดยเฉพาะหากมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนขึ้นเป็น 60% (ตามที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ระบุ)
การขึ้นภาษีในรายการที่สหรัฐฯ มีการพึ่งพาการนำเข้าจากจีนสูง อย่าง Lithium-ion batteries ที่มีสัดส่วนนำเข้าจากจีนมากถึง 70% มองว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนน่าจะสามารถบริหารจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้มีการสนับสนุนการลงทุนสร้างห่วงโซ่การผลิต Lithium-ion batteries ขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะสำหรับ BEV รวมถึงมีทางเลือกในการนำเข้าจากพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทดแทนได้ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้แหล่งอุปทาน Lithium-ion batteries ใหม่เพื่อทดแทนจีนอาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะบางค่ายรถสหรัฐฯ ที่ยังคงพึ่งพาแหล่งอุปทานจากจีนเป็นหลัก ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับผู้ประกอบการจีน อาจจะเกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่สามเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ แต่ก็น่าจะต้องเผชิญการตอบโต้ของสหรัฐฯ โดยการขึ้นภาษีผ่านมาตรการ Anti-circumvention ในท้ายที่สุด คล้ายกับกรณีของ Solar Cells ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า
สำหรับในบางรายการสินค้าสำคัญอย่างรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ยังเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ โดยเฉพาะก่อนผลการตัดสินมาตรการเก็บภาษี BEV จีนของ EU ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ แม้ปัจจุบันค่ายรถจีนส่วนใหญ่ยังแทบไม่มีการทำตลาดในสหรัฐฯ โดยในปี 2566 สหรัฐฯ มีสัดส่วนนำเข้า BEV จีนที่น้อยเพียง 2.0% เท่านั้น
การปรับขึ้นภาษีนำเข้า BEV จากจีนของสหรัฐฯ น่าจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ผลิต BEV จีนเข้าไปลงทุนในเม็กซิโกเพื่อนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนมาประกอบและส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยอาศัยอัตราภาษี MFN ของเม็กซิโกที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 2.5% มากกว่าจะใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ข้อตกลง USMCA ที่มีเงื่อนไขเข้มงวดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งกำหนดให้สัดส่วนมูลค่าชิ้นส่วนที่ต้องผลิตในกลุ่มประเทศ USMCA รวมกันสูงถึง 75%
ทั้งนี้ ประเด็นต่างๆ ดังกล่าวน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรอบใหม่ ซึ่งยังต้องติดตามทีท่าของทางการจีนต่อการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจจะออกมาตรการตอบโต้ต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการจีนด้วยการส่งออกจากประเทศที่สาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 67)
Tags: จีน, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สหรัฐ, เก็บภาษีนำเข้า