นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ให้ นายหลิว หงเจี้ยน (Mr. Liu Hongjian) คณะกรรมาธิการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลยูนนานและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเทศบาลนครคุนหมิงและคณะเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งไทย – คุนหมิง ขับเคลื่อนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟไทย – จีน เส้นทางเชื่อมโยงถนน Road 3 Asia (R3A) และความร่วมมือเกี่ยวกับอำนวยความสะดวกการผ่านแดนระหว่างไทย – จีน โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ
นายสุริยะ กล่าวว่า ในการเข้าพบหารือครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อผลักดันความร่วมมือการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน และการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างไทย – สปป.ลาว – จีน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับความร่วมมือด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่น การก่อสร้างเครือข่ายเส้นทางรถไฟ Pan – Asia Railway สายกลาง (เส้นทางนครคุนหมิง – บ่อหาน – เวียงจันทน์ – กรุงเทพฯ – กัวลาลัมเปอร์ – สิงคโปร์) หรือเส้นทางโครงการทางรถไฟสายสิงคโปร์ – คุนหมิง (SKRL) ภายใต้แนวคิด Belt and Road Initiative ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าเปิดให้บริการในปี 2569 โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าเปิดให้บริการในปี 2573 และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร สถานีทั้งหมด 15 สถานี คาดว่าเปิดให้บริการในปี 2570
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ (หนองคาย – เวียงจันทน์) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ดำเนินการขอรับจัดสรรงบประมาณสำหรับการออกแบบรายละเอียดและรายงาน EIA ในปี 2567 โดยเสนอแนวทางให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินหรือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ นำมาใช้กับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟและสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ (หนองคาย – เวียงจันทน์) ในเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีเวียงจันทน์ใต้ของ สปป.ลาว – สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ – สถานีนาทา ของไทย ตามรูปแบบความร่วมมือโครงการสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ – ห้วยทราย) ซึ่งประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ร่วมกันออกค่าใช้จ่ายการก่อสร้างฝ่ายละครึ่งและประสบความสำเร็จมาแล้ว
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการสนับสนุนการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงถนน R3A ซึ่งเป็นเส้นทางบกที่สั้นที่สุดในการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนตอนใต้ เชื่อมโยงระหว่างไทย – สปป.ลาว – จีน ผ่านจุดสำคัญของทั้ง 3 ประเทศ รวมระยะทางประมาณ 1,800 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่มีความสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทย เนื่องจากสินค้าไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะสินค้าการเกษตรประเภทผลไม้สด เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ใช้การขนส่งทางบกและเชื่อมต่อกับเส้นทาง R3A โดยที่ผ่านมาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและพัฒนาเส้นทางตั้งแต่เริ่มโครงการอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ บริเวณสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 4 จังหวัดเชียงราย เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการนำเข้าและส่งออกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์และสินค้าบรรจุหีบห่อ ระหว่างจีนตะวันตกกับภูมิภาคต่าง ๆ ช่วยสนับสนุนการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงถนน R3A เชื่อมโยงตามแนวเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (North – South Economic Corridor) ภายใต้ความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 67)
Tags: ขนส่งทางบก, ขนส่งทางรถไฟ, คุนหมิง, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ