สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดึง 7 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากจีน โชว์แผนจัดซื้อชิ้นส่วนในประเทศ ยกระดับผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ Supply Chain ยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก มองโอกาสระยะยาวใช้ชิ้นส่วนในประเทศถึง 90% ประสานเสียงไทยฮับในอาเซียน สร้างฐานผลิตเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การจัดงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมระดับนานาชาติ “SUBCON Thailand 2024” ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 15 – 18 พฤษภาคม 2567 โดยภายในงานบีโอไอได้จัดกิจกรรมพิเศษ “BOI Symposium: EV Supply Chain Edition” ระหว่างวันที่ 15 – 17 พฤษภาคม 2567 ต่อเนื่องกัน 3 วัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ 7 ค่ายรถยนต์ชั้นนำของจีน ได้แก่ BYD, MG, Great Wall Motor, NETA, Changan, GAC Aion และ Omoda & Jaecoo ได้มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแผนการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ พร้อมยกระดับผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ Supply Chain ของโลก โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟังแผนการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ รวมกว่า 1,500 คน
“ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์จากจีนที่ได้เริ่มผลิตอีวีในประเทศไทยแล้วมี 3 ราย ได้แก่ GWM, NETA และ MG ส่วน BYD และ GAC Aion มีแผนเริ่มผลิตในช่วงไตรมาส 3 – 4 ของปีนี้ และ Changan จะเริ่มผลิตในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศจะทยอยเพิ่มสูงขึ้น”นายนฤตม์ กล่าว
การเปิดเวทีครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศจะได้รับฟังทิศทางการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและแผนการจัดซื้อชิ้นส่วนโดยตรงจากผู้บริหารค่ายรถยนต์ สร้างโอกาสการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกัน และร่วมกันยกระดับ Supply Chain ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เข้มแข็ง เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกในอนาคต
ทั้งนี้ บีโอไอ ได้ให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกเซกเมนต์ และชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด 17 ชิ้น รวมทั้งแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ โดยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท มีโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่ (BEV) 18 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารวม 400,000 คัน
ทั้งนี้ 7 ค่ายรถยนต์จีนโชว์แผนยกไทยฐานผลิตอีวี ซึ่งทั้ง 7 ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของจีนได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ และแผนการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ โดยแต่ละรายตอกย้ำจุดยืนในการใช้ไทยเป็นฐานผลิตหลักในอาเซียน และมองโอกาสที่จะใช้ชิ้นส่วนในประเทศสูงสุดถึง 90 %เพื่อให้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกในอนาคต
- บริษัท GAC AION New Energy Automobile หรือ GAC AION มีความมุ่งมั่นพัฒนาห่วงโซ่การผลิตในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง และต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งจะมีการลงทุนในส่วนโรงงานผลิต รวมทั้งจัดจำหน่ายในไทยและต่างประเทศ โดยจะร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
- บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ปัจจุบันโรงงานบีวายดีเตรียมใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่า 40% จากผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายรายในประเทศไทย และมีแผนการจัดซื้อเพิ่มขึ้นทุกปี ในอนาคตจะยกระดับการผลิตและพัฒนาชิ้นส่วนในประเทศให้เป็น “Made in Thailand” เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน
- บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีเป้าหมายสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีแผนลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อผลิตรถยนต์พลังงานใหม่กว่า 1.5 ล้านคัน
สำหรับประเทศไทย ฉางอันต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอาเซียน ทั้งการผลิต ขาย รวมถึงการวิจัยและพัฒนา โดยจะมีการลงทุนราว 10,000 ล้านบาท บริษัทฯ คาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในไตรมาสแรกของปี 2568 มีกำลังการผลิตมากกว่า 100,000 คัน โดยใช้ชิ้นส่วนในประเทศถึง 60% และมีโอกาสที่จะเพิ่มไปถึง 90% จากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลไทย
- บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GWM ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน โดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตที่ จ.ระยอง แล้วกว่า 12,500 ล้านบาท มีการจ้างแรงงานกว่า 3,000 คน มีกำลังการผลิตรถยนต์ 80,000 คันต่อปี และในอนาคตมีแผนลงทุนในไทยเพิ่มเป็น 22,500 ล้านบาท โดยจะร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงยกระดับ Supply Chain ของไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้นและสร้างการเติบโตให้กับประเทศไทยในระยะยาว โดยจะเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 80 – 90% ภายใน 3 – 5 ปีข้างหน้า
- บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดในประเทศไทย โดยปี 2565 ได้เปิดตัวรถยนต์ 1 รุ่นเพื่อทำตลาดในประเทศไทย โดยมียอดขายเป็นอันดับ 2 และปีนี้โรงงานเนต้าในประเทศไทยจะเริ่มเดินเครื่อง โดยมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่า 60% จากผู้ผลิต 16 ราย และตั้งเป้าเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้ได้ถึง 85%
- บริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Chery Group กล่าวว่า บริษัทฯ ถือเป็นน้องใหม่ที่เข้ามาทำตลาดประเทศไทย แต่เป็นน้องใหม่ไฟแรงที่พร้อมทำงานร่วมกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในแต่ละประเทศ บริษัทมีโรงงานผลิตรวม 10 แห่งทั่วโลก โดยรถยนต์ของบริษัทมีการส่งออกไปยัง 80 ประเทศทั่วโลก และไทยจะเป็นฐานผลิตหลักในอาเซียน บริษัทฯมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนในแต่ละประเทศ ดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนจากจีนเข้ามาร่วมมือกัน ให้เกิด “Win-Win” ทั้งสองฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่การผลิตรถยนต์พลังงานใหม่อย่างสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นทั่วโลก
- บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ MG ได้เข้ามาทำตลาดในไทยปีนี้เป็นปีที่ 11 มีการผลิตรถยนต์หลากหลายรุ่น รวมยอดขายสะสม 225,000 คันในประเทศไทย และต้นปี 2567 ได้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV รุ่นแรก MG4 เพื่อจำหน่ายในตลาดประเทศไทย โดยบริษัทได้ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ และร่วมมือกับ Supplier ไทย ในการพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเชื่อมั่นว่า นโยบายสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทย และสามารถเพิ่มโอกาสในการเป็นฐานผลิต เพื่อส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 67)
Tags: BOI, EV, นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์, รถยนต์ไฟฟ้า