นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า ในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้แทนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ เข้ามาหารือเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระบบในลักษณะ Open Loop เพื่อเปิดให้ Wallet ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์สามารถเชื่อมต่อระบบกันได้ เพื่อเปิดทางเลือกให้ประชาชนสามารถใช้รับเงินและใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น
ก่อนหน้านี้ได้มีการพูดคุยนอกรอบกับสถาบันการเงินทั้งหมดแล้ว ซึ่งได้รับสัญญาณที่ดีในหลายๆ ประเด็น ทั้งเรื่องการเข้ามาเชื่อมโยงระบบ เพราะทุกฝ่ายมองว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ง่ายขึ้น และได้รับการสนับสนุนในเรื่องนโยบายที่จะเป็นกลไกในการช่วยเหลือ เชื่อมโยงในนโยบายของรัฐที่จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน โดยรายละเอียดทั้งหมดกำลังอยู่ระหว่างการหารือ
รมช.คลัง กล่าวว่า หลักการเบื้องต้นของโครงการ คือ ประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการและเคยยืนยันตัวตนผ่านโครงการของรัฐแล้วไม่ต้องยืนยันตัวตนใหม่ เพราะขั้นตอนค่อนข้างใช้เวลา ดังนั้นอาจจะมีการดึงฐานข้อมูลเก่ามาใช้ได้ แต่จะต้องมีการยืนยันเพื่อรับสิทธิในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต โดยประชาชนทุกคนที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องโหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อเข้าสู่กระบวนการยืนยันการรับสิทธิ เช่นเดียวกับร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ หากเคยลงทะเบียนโครงการของรัฐไว้แล้วก็จะมีการดึงฐานข้อมูลเก่ามาใส่ไว้ในระบบใหม่เช่นเดียวกัน
“การยืนยันการรับสิทธิ ตรงนี้จำเป็น ประชาชนที่ผ่านกระบวนการยืนยันตัวตนแล้ว จะต้องโหลดแอป “ทางรัฐ” เพื่อยืนยันการรับสิทธิ์” นายจุลพันธ์ กล่าว
ที่ประชุมยังได้หารือถึงเงื่อนไขในการใช้บริการภายใต้ระบบ Face to Face โดยผู้ใช้งานจะต้องไปที่ร้านค้าด้วยตัวเอง และมีการแลกเปลี่ยนสินค้าจริง โดยเป็นสินค้าที่ไม่อยู่ในกลุ่ม Negative List ต้องมีการโอนเงินในดิจิทัลวอลเล็ตจริง ณ สถานที่แลกเปลี่ยนสินค้า
ส่วนประชาชนกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟน หรือบางรายไม่มีโทรศัพท์มือถือเลย ก็ได้มีการหารือถึงกลไกที่จะรองรับกลุ่มดังกล่าว โดยจะมีการออกแบบระบบเพื่อรองรับการใช้งานผ่านบัตรประจำตัวประชาชนแทน แต่อาจจะต้องมีการหารือในรายละเอียดเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ไปหารือในรายละเอียดกับคณะกรรมการที่ติดตามการทุจริตของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจไซเบอร์ เพื่อออกแบบระบบและกลไกในการใช้งานเพื่อไม่ให้มีการใช้งานที่ผิดประเภท ผิดหลักการ ซึ่งส่วนตัวได้มีการทักท้วงเรื่องการเพิ่มการระมัดระวังการสวมสิทธิ์ และการใช้งานผิดวัตถุประสงค์
“การใช้จ่ายจะต้องดำเนินการผ่านสมาร์ทโฟนแบบ Face to Face ซึ่งหลักในการป้องกันการทุจริต คือจะต้องมีการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนก่อนซื้อของ จะฝากกันไปใช้จ่ายไม่ได้ ตรงนี้ถือว่าผิดหลักเกณฑ์ ส่วนระบบจะตรวจจับการใช้จ่ายผิดหลักเกณฑ์ หรือผิดวัตถุประสงค์ได้หรือไม่ ตรงนี้จะมีกลไกออกมารองรับแน่นอน แต่ถามว่าจะมีการใช้ผิดประเภทหรือไม่ ผมตอบตามตรงก็ต้องยอมรับว่าอาจจะเกิดได้ คนอาจจะใช้ผิดประเภท ใช้หลบเลี่ยงอะไรก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นผิดกระบวนการและผิดกฎหมายแน่นอน ผมเพิ่งมอบโจทย์ให้คณะกรรมการติดตามเรื่องการใช้ผิดหลักเกณฑ์ไปว่าจะต้องไปดูในรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์ทุกประเภท และจะต้องป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต” นายจุลพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี โครงการนี้เดินหน้ามาพอสมควร โดยได้รับฟังความเห็นของหลายหน่วยงาน และรัฐบาลเองก็ได้มีการกำหนดกลไกเพื่อเพิ่มความรัดกุมเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน กำหนดกลไกเพื่อให้ได้รับผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากขึ้น
พร้อมยืนยันระยะเวลาการดำเนินโครงการจะเป็นไปตามเดิม คือ จะเปิดให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนได้ในไตรมาสที่ 3 และหลังจากมีความชัดเจนมากขึ้นจะมีการเร่งประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน ขั้นตอนการดำเนินการมีอย่างไรบ้าง เช่น เรื่องการโหลดแอปพลิเคชัน การลงทะเบียน จะต้องมีการสื่อสารกับประชาชนอีกครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 67)
Tags: จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ดิจิทัลวอลเล็ต, สถาบันการเงิน