นายประพล ฐานะโชติพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล (TMAN) กล่าวถึงความคืบหน้าในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งไฟลิ่งในการเสนอขาย IPO จำนวน 102 ล้านหุ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการนำเสนอข้อมูลเพื่อเสนอขาย IPO ให้กับนักลงทุน
สำหรับที่เงินที่ได้จากการนำเสนอขาย IPO จะนำมาใช้ในการลงทุนก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักร ปรับปรุงโรงงาน ชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน และรองรับเป็นเงินทุนหมุนเวียน
โดยที่บริษัทมีแผนการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร ประกอบด้วย การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานผลิต ที.แมน ฟาร์มา โดยลงทุนติดตั้งเครื่องจักรและระบบการผลิตยาแผนปัจจุบันประเภท เม็ด น้ำ และครีมเพิ่มเติม คาดว่าทั้ง 2 ส่วนจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/67, โครงการปรับปรุงและขยายศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมทั้งลงทุนอุปกรณ์เครื่องมือวิจัย คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ภายในไตรมาส 4/67, โครงการก่อสร้างคลังสินค้าและอาคารสำนักงานของบริษัท เฮเว่น เฮิร์บ จำกัด รวมถึงการปรับปรุงที่ดินและติดตั้งระบบ, โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพร สำหรับสายการบรรจุผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในโรงงานผลิต เฮเว่น เฮิร์บ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/67, โครงการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ของบริษัท เฮเว่น เฮิร์บ จำกัด โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/67 ซึ่งทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทของแข็ง (Solid Dosage Form), โครงการพัฒนาระบบงานขายบนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มการทำงานส่วนงานขายให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อผ่านระบบดังกล่าว, โครงการปรับปรุงมาตรฐานการผลิตโดยลงทุนในเครื่องมือควบคุมคุณภาพการผลิตยาแผนปัจจุบัน และโครงการปรับปรุงสายการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. ผลิตและจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ
2. รับจ้างผลิตเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอก (OEM/ODM)
3. จัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอก
ขณะที่ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของกลุ่มบริษัท แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1. ยาแผนปัจจุบัน แบ่งเป็น ยาสามัญ (Generic drugs) และยาสามัญใหม่ (New generic drugs) ภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ และแบรนด์ของบุคคลภายนอก เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ Myda ยาฆ่าเชื้อรา รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อราที่มีอาการอักเสบและ/หรืออาการคันร่วมด้วย เป็นต้น
2. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้แก่ ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อสุขภาพจากสมุนไพรและสารสกัดจากธรรมชาติภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ และแบรนด์ของบุคคลภายนอก เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ Propoliz กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลและช่วยบรรเทาอาการทางช่องปากและลำคอ เป็นต้น
3. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคทุกช่วงวัย ภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ Vita-C ผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินซี เป็นต้น และเครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ เช่น Nevtral cream ครีมสำหรับผื่น แพ้ คัน เป็นต้น
4. ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ ได้แก่ อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ เพื่อรักษา บรรเทาและป้องกันการเจ็บป่วย เช่น Dr.Temp แผ่นเจลลดไข้ เป็นต้น และสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อดูแลสุขภาพทั่วไปทุกวัย ที่ไม่ใช่เวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น Polar ที่มีทั้งสเปรย์ปรับอากาศและโฟมล้างมือ เป็นต้น
สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมยายังมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง จากแนวโน้มการจำหน่ายยาในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 66-68 คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโต 5-6% ต่อปี เนื่องจากทิศทางของเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยต่างชาติกลับมาใช้บริการมากขึ้น ตลอดจนการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคยาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาลจะเติบโตเฉลี่ยที่ 6.3% ต่อปี ขณะที่มูลค่าการจำหน่ายผ่านร้านขายยา (OTC) จะเติบโตเฉลี่ยที่ 5% ต่อปี
ขณะที่ความต้องการด้านเวชภัณฑ์ยาภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันโรคต่างๆ ประกอบกับประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ และการเข้าสู่สังคมเมืองทำให้ต้องเผชิญมลภาวะและขาดการออกกำลังกาย ทำให้ความต้องการยาเสริมภูมิคุ้มกันหรือป้องกันโรคเพิ่มขึ้น กลุ่มบริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และจัดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ด้านสุขภาพและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ยาน้ำแก้ไอมะแว้ง ไลท์ สูตรไม่มีน้ำตาล (กล่องสีขาว) เหมาะกับผู้บริโภคที่ต้องระมัดระวังเรื่องระดับน้ำตาลและผู้สูงอายุ
จากการที่บริษัทเป็นเจ้าของแบรนด์เวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมทั้งสิ้น 221 แบรนด์ และนำเข้าหรือจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอกอีก 18 แบรนด์ รวมทั้งสิ้นกว่า 804 ผลิตภัณฑ์ (SKUs) และมีเครือข่ายกลุ่มลูกค้าองค์กรเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งครอบคลุมทั้งร้านขายยา โรงพยาบาล คลินิกเวชกรรมและเสริมความงาม ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่งแผนงานของบริษัทจะมุ่งเน้นการสร้างโอกาสขยายสัดส่วนยอดขายในกลุ่มลูกค้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 12% เพราะยังเป็นตลาดที่มีโอกาสในการขยายยอดขายและสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้ เพราะยังมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนอีกจำนวนมากที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัท ซึ่งบริษัทจะนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆเข้าไปนำเสนอ เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มโรงพยาบาลต่างๆ
นอกจากนี้บริษัทมีโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง ได้แก่ โรงงานผลิต ที.แมน ฟาร์มา และโรงงานผลิต เฮเว่น เฮิร์บ มีศักยภาพการผลิตที่มีจุดเด่นได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล มาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP PIC/S) มาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการกระจายยา (GDP PIC/S) มาตรฐานห้องปฏิบัติการระดับสากล ISO 17025 และการรับรองมาตรฐานอื่นๆ
บริษัทได้วาง 8 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1. พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและนวัตกรรมใหม่ ครอบคลุมทั้งกลุ่มเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับการรักษากลุ่มโรคสำคัญ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ พร้อมกับมุ่งสร้างมาตรฐานการสกัดสารสกัดจากธรรมชาติภายใต้ NatureCeutical ตลอดจนการสรรหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2. ขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยวางแผนลงทุนขยายกำลังการผลิต เช่น การติดตั้งเครื่องจักรสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและสร้างการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) เป็นต้น 3. สรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ โดยกลุ่มบริษัทมีแผนจะขยายทีมเภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ อีกทั้งมุ่งขยายทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายเพื่อสามารถเข้าถึงลูกค้าองค์กรกว้างขวางมากขึ้น 4. การมุ่งเน้นสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้รับการยอมรับผู้บริโภค โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค นำเสนอจุดขายของผลิตภัณฑ์ทำให้แบรนด์แตกต่างและมุ่งสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
5. การขยายธุรกิจจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอก เพิ่มนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย พร้อมทั้งปรับโครงสร้างฝ่ายขายและขยายทีมเจ้าหน้าที่ขาย 6. การขยายฐานลูกค้ากลุ่มลูกค้าโรงพยาบาล โดยมุ่งพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม 7. มุ่งขยายการจัดจำหน่ายตลาดต่างประเทศ โดยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ ผ่านการสรรหาผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ 8. การขยายธุรกิจรับจ้างผลิต (ODM/OEM) โดยใช้ศักยภาพโรงงานที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล ผลิตผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 67)
Tags: TMAN, ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล, ประพล ฐานะโชติพันธ์, หุ้นสามัญ, เสนอขายหุ้น