ทะลุฟ้า ยกเคส “บุ้ง ทะลุวัง” จี้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112

บรรดานักกิจกรรมการเมือง อาทิ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” แกนนำทะลุฟ้า น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง ปนัสยา” แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ แกนนำกลุ่มราษฎร นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายเอกชัย หงส์กังวาน เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้มีนโยบายคืนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง หลังจาก น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง ทะลุวัง” เสียชีวิตระหว่างคุมขัง

พร้อม ยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ ได้แก่

1. เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการเสียชีวิตของน.ส.เนติพรให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนโดยเร็ว

2. ให้ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดได้รับสิทธิในการประกันตัว

3. ชะลอการดำเนินคดีการจับคุมขังบุคคลในคดีการเมืองจนกว่าจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงสั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้องไม่ยื่นอุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกา ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

4. เร่งรัดกันออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่าย ทุกข้อหา ที่มีมูลเหตุ มาจากคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แล้วหวังว่าจะไม่มีบุคคลใด จะต้องเสียชีวิต และทุกๆคนจะได้รับสิทธิในการประกันตัวและสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง

โดยทางกลุ่มจะมาติดตามข้อเรียกร้องอีกครั้ง ในวันที่ 21 พ.ค.นี้

หลังจากนั้นได้เดินทางไปรัฐสภา เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาฯ เพื่อขอให้เร่งพิจารณากำหนดให้คดีกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย

น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า กรณีการเสียชีวิตของ “บุ้ง ทะลุวัง” ในระหว่างการคุมขังในเรือนจำ ถือเป็นเหตุจำเป็นที่ กมธ.ควรพิจารณาให้ชัดเจนและจริงจังต่อการกำหนดให้คดีมาตรา 112 และคดีทางการเมืองได้รับการนิรโทษกรรม

พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้ชะลอคดีความของผู้ต้องหาคดีทางการเมือง รวมถึงพักการดำเนินคดี ไม่ต้อนคนเข้าเรือนจำ หรือต้อนคนให้ไปตาย และขอให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองโดยสิทธิการประกันตัว ซึ่งคนต้องคดีการเมืองไม่ควรมีข้อยกเว้นที่จะได้รับสิทธิประกันตัว อีกทั้งควรมีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ใช้สิทธิต่อสู้ในคดีอย่างเต็มที่

ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.นิรโทษกรรมฯ กล่าวว่า กมธ.ขอแสดงความเสียใจต่อกรณีของ น.ส.เนติพร และไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีก แต่หลายเรื่องเป็นประเด็นในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับพนักงานสอบสวน อัยการ และ ศาล ส่วนรัฐสภา หรือรัฐบาลนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบ ไม่ใช่ผู้บริการกระบวนการยุติธรรม

“เรื่องนี้สำคัญอยู่ที่นโยบาย เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ พูดคุยและทำความเข้าใจในกระบวนการทำงาน หากทำงานแล้วหน่วยงาน เช่น ศาลไม่รับรู้ ศาลต้องยึดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้นหากเป็นการทำตามนโยบายในภาพรวมคือส่วนสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องหารือในทางออกร่วมกัน” นายชูศักดิ์ กล่าว

ประเด็นการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 กมธ.ไม่ได้ตัดออก แต่อยู่ระหว่างหารือข้อดี-ข้อเสีย ซึ่ง กมธ.พยายามทำเรื่องดังกล่าวให้ได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด ส่วนสิทธิการประกันตัวถูกกำหนดให้เป็นดุลยพินิจของตุลาการ อย่างไรก็ดีข้อเสนอของภาคประชาชนนั้น กมธ.รับไว้และจะพิจารณาอย่างจริงจังและเต็มที่

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.63 ถึงวันที่ 30 เม.ย.67 รวม 1,954 คน จาก 1,295 คดี โดยมีคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินมากที่สุด 1,466 คน และอันดับที่ 2 เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 272 คน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top