SABUY ร่วง 14.51% มาอยู่ที่ 1.65 บาท ลดลง 0.28 บาท มูลค่าซื้อขาย 35.38 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.01 น. โดยเปิดตลาดที่ 1.50 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 1.79 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 1.50 บาท
บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/67 พลิกเป็นขาดทุนสุทธิ 1.96 พันล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 1.1347 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 166.95 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.1025 บาท
บริษัทชี้แจงว่ารายได้รวมอยู่ที่ 1.89 พันล้านบาท ลดลง 8.5% จากไตรมาสก่อน และ 25.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.4%
– รายได้จากการให้บริการ 620.4 ล้านบาท ลดลง 6.8% จากไตรมาสก่อน และ 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้บริการจากธุรกิจ SPEED, SABUY Alliance, iSoftel และบริการจากตู้เติมเงินลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทั้ง 2 ไตรมาส
– รายได้จากการขาย 1,102.4 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน 8.7% และลดลง 34.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มบริษัทมีการยกเลิกธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคจาก Sabuy Market plus ที่มีกำไรขั้นต้นต่ำ ทำให้ยอดขายลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
– รายได้จากการให้บริการตามสัญญาและดอกเบี้ยรับอยู่ที่ 134.3 ล้านบาท ลดลง 12.9% จากไตรมาสก่อน และ 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักจากธุรกิจ SBNEXT และ LOVLS ที่มีการเข้มงวดในการบันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตมากขึ้น
สาเหตุหลักของการขาดทุนมาจากการบันทึกรับรู้ผลขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุน DOU7 จำนวน 995.60 ล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักอันจะส่งผลให้บริษัทสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทได้อย่างเต็มที่
และการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจำนวนเงิน 575.60 ล้านบาทในเงินลงทุน SBNEXT จากการที่มีข้อบ่งชี้ว่าบริษัทอาจสูญเสียอำนาจการควบคุมในบริษัทย่อยในไตรมาส 2, และยังต้องรับรู้ผลขาดทุน 173.36 ล้านบาทในเงินลงทุน Citysoft, Ocapital, Sabuy alliance,Oops network & Redhouse อันเนื่องมาจากมีข้อบ่งชี้ว่าธุรกิจดังกล่าวอาจไม่อยู่ในแผนธุรกิจของกลุ่ม Lightnet ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2
ด้านกำไรขั้นต้นสำหรับไตรมาส 1/67 เท่ากับ 578.1 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 31.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเท่ากับ 29.1% และจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเท่ากับ 23.3% จากการยกเลิกธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคจาก Sabuy Market plus ที่มีกำไรขั้นต้นต่ำ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 1/2567 เพิ่มสูงขึ้น
ค่าใช้จ่ายรวมสำหรับไตรมาส 1/67 เท่ากับ 752.1 ล้านบาท ลดลง 29.9% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 50.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในช่วงไตรมาสก่อนบริษัทมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย การขยายสาขา และค่าใช้จ่ายการตลาดเพื่อสร้างยอดขายของทั้ง SBNEXT และ LOVLS เป็นจำนวนมาก และเริ่มลดลงจากค่าใช้จ่ายประเภท onetime ที่ไม่เกิดขึ้นอีก
ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากช่วงไตรมาส 1/66 ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขยายธุรกิจดังกล่าวยังมีเพียงเล็กน้อย รวมไปถึงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน กลุ่มบริษัทได้ลงทุนในการพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อลดการพึ่งพาและเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากร เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการพัฒนาระบบ IT ราว 200 ล้านบาท โดยมีการลงทุนและทยอยรับรู้ค่าตัดจำหน่ายตั้งแต่ปลายไตรมาส 4/66 เป็นต้นมา
สินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มี.ค.67 ลดลง 3.23 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 15% จากวันที่ 31 ธ.ค.66 โดยมีสาเหตุหลักมาจาก การจำหน่ายเงินลงทุนใน DOU7 จำนวน 1,335.63 ล้านบาท รับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจำนวนเงิน 748.96 ล้านบาท
หนี้สินรวม ณ วันที่ 31 มี.ค.67 เปลี่ยนแปลงจากวันที่ 31 ธ.ค.66 เล็กน้อย และส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง 3.21 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 29.31% สาเหตุหลักจากหุ้นทุนซื้อคืนเพิ่มขึ้น และผลขาดทุนสะสมที่เพิ่มขึ้นจากผลขาดทุนในงวด อัตราส่วนสภาพคล่อง ณ วันที่ 31 มี.ค.67 อยู่ที่ 0.63 เท่า ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค.66 จำนวน 0.72 เท่า จากการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นและอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ 31 มี.ค.67 เพิ่มขึ้นเป็น 1.27 เท่า และ 1.05 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ 0.90 เท่าและ 0.76 เท่า ตามลำดับ วันที่ 31 ธ.ค.66 อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สินจากการกู้ยืมสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพื่อรองรับการขยายโครงสร้างธุรกิจ ประกอบกับการลดลงของส่วนของผู้ถือหุ้นจากการซื้อหุ้นคืน และผลขาดทุนสะสมที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว
บริษัทยังระบุถึงกลยุทธ์และเป้าหมายในปี 67 ว่า เพื่อเตรียมตัวเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจในระดับมหภาค ที่ส่งผลต่อความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคระดับย่อย และเป็นความต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 66 กลุ่มบริษัทมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร ลดค่าใช้จ่ายและลดความซ้ำซ้อน โดยกลุ่มบริษัทฯ ถือเรื่องสภาพคล่องถือเป็นความสำคัญลำดับแรกสุดที่จะมุ่งเน้นและบริหารจัดการอย่างเข้มงวดจากปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะตลาดเงิน/หุ้นกู้ในช่วงครึ่งหลังของปี 66 กลุ่มบริษัทฯ ตัดสินใจเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจให้กระชับยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นธุรกิจหลัก 5 ตัวคือ SABUY, SBNEXT, PTECH, SABUY SPEED (กลุ่มธุรกิจ Drop-Off) และ Asphere โดยมุ่งเน้นเรื่องการหารายได้อย่างเข้มงวด โดยกวดขันเรื่องยอดขายต่อคน ต่อทีม ขยายตลาดไปยัง segment อื่น ขยายผลิตภัณฑ์ และการขยาย cross sell ภายในกลุ่มบริษัทฯ เพื่อครอบคลุมความต้องการ และการตอบสนองของผู้บริโภคได้รอบด้านมากขึ้นนั้น จะส่งผลให้กระแสรายได้ของบริษัทฯ (Revenue Momentum) ให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
สำหรับแผนธุรกิจปี 67 จะมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า DEC หรือ Digital Enterprise Consumer ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจ ดังต่อไปนี้
1. Digital ประกอบไปด้วยธุรกิจ AS game, Bitkub, E money, Market Tech, Cloud, Speed, Maketing Oops! จะเป็นธุรกิจที่เป็นอนาคตที่จะพาประเทศไทยข้ามสู่ยุคดิจิทัลในแบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
2. Enterprise ประกอบไปด้วยธุรกิจ Card, Buzzebees CRM, Call Center and Broker insurance เป็นธุรกิจ B2B ที่จะช่วยยกระดับธุรกิจ
3. Consumer ประกอบไปด้วยธุรกิจ SBNEXT direct to home, ผ่อนสบาย, Vending machine เป็นธุรกิจที่จะเข้าถึงชุมชนทั้ง Vending Machine ร้านผ่อนสบายให้สินเชื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องกรองน้ำถึงแม้ว่าการดำเนินการเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้กับบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) และการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะจัดสรรให้แก่บุคคลในวงจำกัดให้แก่ กลุ่ม Lightnet และพันธมิตร อยู่ระหว่างการดำเนินการ บริษัทฯ เล็งเห็นประโยชน์จากการเข้ามาของผู้ถือหุ้นใหม่ที่ไม่เพียงจะต่อยอดความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทฯ แต่ยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน
นอกจากนี้ กลุ่ม Lightnet ได้เริ่มทำงานร่วมกับกลุ่มบริษัทในการกำหนดกลยุทธ์หลายด้าน อาทิ การใช้เครือข่ายสาขาร้านรับส่งพัสดุของ Speed ที่มีมากกว่า 24,000 แห่งทั่วประเทศรองรับธุรกรรมที่ทางกลุ่ม Lightnet จะนำเข้ามาเพิ่มรายได้ ร่วมพัฒนาต่อยอดระบบการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้แต้มหรือคะแนนสะสมของลูกค้า การให้การสนับสนุนต่อ AS เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขยายธุรกิจนอกเหนือจากเกมออนไลน์ การขยายฐานลูกค้าและธุรกรรมให้กับระบบ e-wallet อย่าง SABUY Money โดยภายหลังจากการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กลุ่ม Lightnet มีแผนที่จะช่วยกลุ่มบริษัทฯ พัฒนาเรื่องระบบจัดการข้อมูล หรือ Data ซึ่งมีจำนวนมากเพื่อให้สามารถนำมาสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าของกลุ่มบริษัทฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ค. 67)
Tags: SABUY, สบาย เทคโนโลยี, หุ้นไทย