AF รุกหนักขยายกลุ่ม Non-Factoring อัพสัดส่วนเป็น 40% ใน 3 ปี เป้าพอร์ตสินเชื่อปี 67 โต 12%

นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่ บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) เปิดเผยว่า ในปี 67 บริษัทตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อโต 12% หรือคิดเป็นเม็ดเงินปล่อยใหม่มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท จากปีที่แล้วมีการปล่อยสินเชื่อราว 300-400 ล้านบาท เดินหน้าปล่อยสินเชื่อธุรกิจ Non-Factoring เพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในเทรนด์การเติบโต หลังปีนี้คาดว่าสินเชื่อแฟคตอริ่งทรงตัวจากปีก่อนถูกกดดันจากสภาวะตลาด หนุนสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อกลุ่ม non factoring เพิ่มขึ้นเป็น 40% ในอีก 3 ปีข้างหน้าจากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 20% สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 2/67 คาดรายได้โตต่อเนื่อง โดยมาจากการปล่อยสินเชื่อกลุ่ม non factoring credit ซึ่งมีมาร์จิ้นที่สูงกว่ากลุ่มแฟคตอริ่ง

ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับมหภาคยังคงไม่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบริษัทมองว่าภาพรวมธุรกิจแฟคตอริ่งสอดคล้องกับธุรกิจ SMEs ยังทรงตัว เนื่องจากถูกกดดันจากต้นทุนทางการเงินที่ยังอยู่ระดับสูง หลังจากต้นปีที่ผ่านมามีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันมีผลทำให้ต้นทุนการเงินไม่ได้ลดลงอย่างแท้จริง ทำให้ลูกค้าของบริษัทกว่า 95% ที่เป็นกลุ่ม SMEs มีความระมัดระวังในการเบิกใช้วงเงิน รวมทั้งถูกกดดันจากการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน

ปัจจัยกดดันดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสินเชื่อแฟคตอริ่งในภาพรวม เนื่องจากแฟคตอริ่งเป็น Post Finance อัตราการเติบโตของตลาดแฟคตอริ่งของบริษัทจึงไม่น่าเกินกว่า 2% จากปีก่อน ขณะที่มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังหากปัจจัยกดดันต่าง ๆ คลี่คลาย หรือมีสัญญาณผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจเป็นจิตวิทยาเชิงบวกที่ทำให้กลุ่ม SMEs กลับมากู้ยืมได้มากขึ้น ในแง่ของสถาบันการเงินอาจมีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนปรนเกณฑ์การให้สินเชื่อ

จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน บริษัทจึงมุ่งเน้นปล่อยสินเชื่อไปยังอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ แพ็คเกจจิ้ง พลังงานทดแทน ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ EV และ โลจิสติกส์ โดยในปี 66 บริษัทมีการปล่อยสินเชื่อผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้ non factoring credit ไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่ในปีนี้ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อกลุ่มดังกล่าวโตมากกว่า 20% และในปีถัดไปคาดเติบโต 10% ต่อปี

ขณะที่ NPLs มีแนวโน้มลดลงจากปัจจุบัน NPLs ของบริษัทอยู่ที่ 4.7% ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมาย NPLs ต่ำกว่า 4% ในปีนี้ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ประกอบด้วยการกระตุ้นของภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมามองว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ และการคาดการณ์เงินเฟ้อและต้นทุนทางการเงินจะลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง

และในฐานะผู้ประกอบการด้านแฟคตอริ่ง มองว่าหากทางกลุ่มร่วมมือกับภาครัฐจะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนอย่างเท่าเทียม ซึ่งความร่วมมือกับผู้ประกอบการแฟคตอริ่งมีข้อดีคือ ไม่ต้องใช้หลักประกัน และเน้นพิจารณาความเสี่ยงขึ้นกับผู้ซื้อภาครัฐ ในฐานะแหล่งจ่ายเงินค่าสินค้า โดยสถาบันการเงินจะรับมอบสิทธิเรียกร้องจากผู้ขายในการรับชำระหนี้จากรัฐแทน ซึ่งจะเกิดเงินทุนหมุนเวียนสำหรับ SMEs ทันที ซึ่งปัจจุบันทางสมาคมอยู่ระหว่างการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยถึงข้อเสนอดังกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top