“ไทย สมายล์ บัส” รถเมล์ไฟฟ้าเล็งแต่งตัวเข้าตลาดหุ้นปี 68-70, โอดวิ่งทับซ้อนทำรายได้สูญ

บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) ผู้ให้บริการรถโดยสารประจำทางและเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า EV 100% บริษัทในกลุ่มบมจ.พลังงานบริสุทธ์ (EA) เตรียมแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วางเป้าอย่างเร็วปี 68 หรืออย่างช้าในปี 70 โดยตั้งเป้าปีนี้จะพลิกมีกำไร จากที่ดำเนินธุรกิจมา 2 ปี ปัจจุบันมีรถเมล์ไฟฟ้า 2,350 คัน และมีแผนจะเพิ่มจำนวนให้ครบ 3,100 คัน

บริษัทได้เตรียมหาที่ปรึกษาทางการเงินที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนใน SET ซึ่งวางเป้าหมายอย่างเร็วเข้าตลาดในปี 68 หรืออย่างช้าไม่เกินปี 70 โดยบริษัทเป็น Service Provider ที่มี Eco System รถพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากเป็นบริษัทในกลุ่ม EA ที่มีการผลิตรถไฟฟ้า แบตเตอรี่ ตู้ชาร์จไฟฟ้า รวมถึงการซ่อมบำรุง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของบริษัท

โดยการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อนำไปขยายธุรกิจนอกเหนือจากการวิ่งรถเมล์ประจำทางแล้ว ก็มองหาโอกาสที่จะรับงานเอกชนวิ่งรับส่งพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เป็นเส้นทางไม่ประจำ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นในปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทจะนำไปชำระคืนหนี้บางส่วน ซึ่งปัจจุบันมีหนี้สินจากการเช่าซื้อรถเมล์ไฟฟ้ากว่า 2 หมื่นล้านบาท

นายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทมีจำนวนรถเมล์ไฟฟ้าพร้อมให้บริการประชาชนถึง 2,350 คัน มีเส้นทางเดินรถทั้งหมด 123 เส้นทางครอบคลุม กรุงเทพ และปริมณฑล มีผู้ใช้บริการมากว่า 300,000 คน/วัน โดยมีรายได้ประมาณ 5 ล้านบาท/วัน คิดเป็นรายได้ถัวเฉลี่ย 18 บาท/คน/เที่ยว

ในปลายปีนี้ บริษัทน่าจะเริ่มทำกำไรจากปัจจุบันมีรายได้ราว 3,400 บาท/คัน/วัน ใกล้ถึงจุดคุ้มทุนที่ 3,500 บาท/คัน/วัน ซึ่งมีต้นทุนโดยตรงได้แก่ ค่าแรงพนักงานขับรถ,พนักงานเก็บค่าโดยสาร ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าที่จอดรถ ยังไม่นับรวมต้นทุนการบริหาร และต้นทุนการเงินจากการเช่าซื้อ

นอกจากนี้ TSB เตรียมพร้อมเข้าร่วมประมูลสัมปทานเดินรถประจำทาง ที่กรมการขนส่งทางบกมีแผนเปิดให้สัมปทานเดินรถเพิ่มขึ้นด้วย

โอดเจอวิ่งรถทับซ้อนทำรายได้สูญ

นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด(TSB) กล่าว่า ปัจจุบัน TSB พบปัญหาการเดินรถทับซ้อนกัน ที่มีรถร่วมขสมก. และ รถขสมก.วิ่งทับเส้นทางของ TSB ที่มีสัมปทาน 123 เส้นทางราว 60% ทำให้กระทบรายได้สูญไปอย่างต่ำ 60 ล้านบาท/เดือน หรือหายไป 3,000 บาท/วัน/คัน ทั้งๆที่มีแผนปฏิรูปรถโดยสารสาธารณะ 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการของกรมการขนส่งทางบก จึงต้องการให้ทางรัฐเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ รวมไปถึงต้องปรับปรุงเส้นทางเดินรถให้เข้ากับยุคสมัยที่มีการเดินทางรถไฟฟ้ามากขึ้น และมีจำนวนหมู่บ้านเพิ่มขึ้น

“วันนี้ ไทย สมายล์ บัส ได้ดำเนินธุรกิจมา 2 ปี เราได้รับภาวะที่เหมือนทนทำ เพราะมีความรู้สึกที่ไทย สมายล์ บัส กลุ่มเดียวที่เข้าใจคำว่า ปฏริรูป แต่เราทำเองไม่ได้ ที่บอก 1 เส้นทาง 1 สัมปทาน แต่ก็มีรถอื่นมาวิ่งทับซ้อน ความเสียหายจึงมาตกอยู่กับไทย สมายล์ บัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TSB กล่าว

อย่างไรก็ตาม TSB จะเพิ่มความถี่การเดินรถ เพื่อแย่งมาร์เก็ตแชร์ เส้นทางที่มีการแข่งขันสูง อาทิ สาย 8 เป็นเส้นทางที่ทำรายได้มาก โดยมีรายได้ 8,000 บาท/วัน/คัน ซึ่งปัจจุบันวิ่งอยู่ 30 คันมีแผนจะเพิ่มอีก 20 คัน

นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวว่า บริษัท ตั้งเป้าในปลายปีนี้จะเพิ่มยอดผู้ใช้บริการถึง 700,000 คน/วัน โดยจะต้องให้มีการยกเลิกรถที่วิ่งทับซ้อนกับเส้นทางที่ TSB วิ่งรถอยู่ และยื่นขอปรับปรุงเส้นทาง 116 เส้นทาง เพื่อรองรับการเดินทางที่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนที่จะขยายรถเมล์ไฟฟ้าเป็น 3,100 คัน

โดยกลุ่มที่บริษัทให้ความสำคัญมากขึ้นเป็นเด็ก Gen ใหม่ โดยเฉพาะเด็กม.ต้น และม.ปลาย ที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 20% ซึ่งวางเป้าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 50-60% ในปลายปีนี้ โดยมีการลงทะเบียนบัตร Hop card ของ TSB ที่ปัจจุบันทยอยลงทะเบียนมาแล้ว 3 หมื่นใบ คาดจะมีการลงทะเบียนเพิ่ม 70-80% ของคนซื้อบัตร โดยลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น TSB Go Plus+

เสนอ 4 แนวทางแก้ปัญหาเดินรถที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการทุกราย

1.แก้ไขกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้อต่อการเดินรถ เช่น อนุญาตให้ปรับย้ายรถในเส้นทางกลุ่มเดินรถเดียวกันได้ เพื่อเสริมรถในเส้นทางที่มีความต้องการสูง ตอบโจทย์ผู้เดินทาง

2. เร่งแก้ไขปัญหาเส้นทางทับซ้อนและรถเถื่อนที่ลักลอบรวมถึงสวมสิทธิ์นำรถมาวิ่งให้บริการประชาชนทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก นอกจากไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย ยังเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจากการแย่งผู้โดยสาร เฉพาะของไทย สมายล์ บัส พบปัญหารถเมล์เถื่อนและวิ่งทับซ้อนมากกว่า 50-60% จากที่ให้บริการทัง้หมด 123 เส้นทาง

3.ขอให้เร่งสรุปความชัดเจนเลขสายใหม่ให้เป็นในทิศทางเดียวกัน เพื่อความสะดวกและจดจำง่าย เนื่องจากปัจจุบันได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่าจดจำยากและไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

4. ขอให้ร่วมบูรณาการยกระดับรถเมล์ทั้งระบบ โดยเฉพาะด้านบุคคากร

ปัจจุบัน ภาพรวมผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมีประมาณ 1 ล้านคน โดยองค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มี 600,000 คน/วัน หรือ มีส่วนแบ่ง 60% ไทยสมายล์บัส 300,000 คน/วัน หรือ 30% ที่เหลือเป็นรถร่วม และรถสองแถว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top