BA ยิ้ม Q1/67 กำไรสุทธิ 1.9 พันลบ.โตแซงก่อนโควิดตอบรับผู้โดยสารฟื้นตัวแรง

บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/67 โดยบริษัทฯ มีรายได้รวม 7,828.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 มีกำไรสุทธิ 1,879.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,000.1 ล้านบาท หรือ 113.7% จากปี 66

นอกจากนี้ ยังมีการเติบโตในด้านจำนวนผู้โดยสารที่ขนส่งรวมทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน ปรับตัวสูงขึ้น 17.1% จากปี 66 และฟื้นตัวได้ 75.6% จากช่วงก่อน การระบาดโรคโควิด-19 ในปี 62 อีกทั้งยังมีผลกำไรที่เติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปี 62 ที่ 267.95% ซึ่งในปีดังกล่าวมีกำไรอยู่ที่ 510.8 ล้านบาท

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA เปิดเผยว่า จากภาพรวมสถานการณ์การเดินทางและการท่องเที่ยวทั่วโลกและในประเทศไทยที่ยังคงมีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยปัจจัยการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในเอเชียแปซิฟิก และการเติบโตของปริมาณอุปสงค์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยที่ขยายตัว บริษัทฯ จึงเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญโดยได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินเพื่อรองรับปริมาณการเดินทางที่มีความต้องการสูงโดยเฉพาะเส้นทางสมุย รวมถึงได้กลับมาให้บริการเส้นทางบินไปยังประเทศจีน 2 เส้นทางเชื่อมเกาะสมุย ได้แก่ สมุย-เฉิงตู และสมุย-ฉงชิ่ง ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เฉลี่ยจำนวน 2-3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

โดยในช่วงไตรมาสที่ 1/67 บริษัทฯ ได้ขนส่งผู้โดยสาร 1.3 ล้านคน ปรับตัวสูงขึ้น 17.1 %จากปี 66 และฟื้นตัวได้ 75.6% ของช่วงก่อนโควิด-19 ในขณะที่ปริมาณที่นั่งรวมเพิ่มสูงขึ้น 15.5% ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีอัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 88.4% ปรับตัวสูงขึ้น 1.3 จุดจากปี 66 โดยรายได้บัตรโดยสารส่วนใหญ่มาจากจุดขายบัตรโดยสาร (Point-of-Sale) จากต่างประเทศ 44% รองลงมาได้แก่ จุดขายบัตรโดยสารผ่านเว็บไซต์และระบบเชื่อมต่อตรงกับบริษัทฯ คิดเป็น 43% และจุดขายบัตรโดยสารในประเทศไทย 12% ของรายได้บัตรโดยสารทั้งหมด และมีราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 4,405.9 บาท หรือเพิ่มขึ้น 18%

ผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 67 บริษัทฯ มีรายได้รวม 7,828.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.3% จากการเติบโตของธุรกิจสายการบินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนรายได้ 73.4% และ 16.8% ของรายได้รวมตามลำดับ ทั้งนี้ มีกำไรจากการดำเนินงาน 2,390.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,160.0 ล้านบาท หรือ 94.2% ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบัตรโดยสารของธุรกิจการบิน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้น 39.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน เพิ่มขึ้น 30.3% ในขณะที่บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายรวม 5,358.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนขายและบริการ อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินและค่าบริการผู้โดยสาร

บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิสำหรับงวด 1,879.5 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 1,000.1 ล้านบาท หรือ 113.7% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 66 โดยมีผลกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ 1,873.2 ล้านบาท และมีผลกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.89 บาท ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 62 บริษัทยังมีผลกำไรที่เติบโตขึ้น 267.95% ซึ่งในปีดังกล่าวมีกำไรอยู่ที่ 510.8 ล้านบาท

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ยังคงวางเป้าผู้โดยสารตลอดปี 67 ที่ 4.5 ล้านคน และรายได้ผู้โดยสาร 17,800 ล้านบาท โดยมุ่งมั่นที่จะมอบประสบการณ์การเดินทางด้วยบริการเต็มรูปแบบ (Full Services) มุ่งเน้นบริการระดับพรีเมี่ยมให้แก่ผู้โดยสาร การันตีด้วยรางวัลเกียรติยศสายการบินระดับภูมิภาคที่ที่สุดในโลก และสายการบินระดับภูมิภาคที่ดีที่สุดในเอเชีย 7 ปีซ้อน จากการประกาศผล เวิลด์ แอร์ไลน์ อวอร์ด ประจำปี 2566 จากสกายแทรกซ์

โดยสำหรับปี 67 นี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรสายการบิน โดยมีแผนข้อตกลงความร่วมมือกับสายการบินเพิ่มเติมประมาณ 2 สายการบินในปี 67 อีกทั้งยังมุ่งเน้นการดำเนินงานด้านแผนพัฒนากิจการสนามบินภายใต้การบริหารงานของบริษัท จำนวน 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด เพื่อส่งเสริมศักยภาพเครือข่ายเส้นทางบินและอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร รวมถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางมายังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ ในประเทศไทย นายพุฒิพงศ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top