บาทมีแนวโน้มอ่อนค่าใน 1-3 เดือนข้างหน้า แรงกดดันจากส่วนต่างดอกเบี้ย-ศก.ฟื้นช้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่ากลับไปที่แนว 37.00 บาท/ดอลลาร์ฯ ในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า ตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยและสหรัฐฯ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3/67 เป็นอย่างเร็ว ขณะที่โมเมนตัมของเศรษฐกิจไทย ยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอาจมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดขึ้น ในช่วงประมาณไตรมาสที่ 3/67

เมื่อมองไปข้างหน้า คาดว่าความผันผวนของเงินบาท จะอยู่สูงกว่า 5% ซึ่งเป็นระดับที่เห็นในช่วงก่อนโควิด-19 ดังนั้น การปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อเงินบาทที่อ่อนค่า จะเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบนำเข้าสูง แต่มียอดขายส่วนใหญ่เป็นตลาดในประเทศ อาทิ โรงกลั่นน้ำมัน การผลิตเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า นำเข้าปุ๋ยและยาฆ่าแมลง สิ่งทอ อุปกรณ์ขนส่ง และเหล็กแผ่น/ เหล็กเส้น

“ผู้ประกอบการฝั่งนำเข้า และมีภาระหนี้ต่างประเทศที่ต้องชำระคืนในระยะสั้น ควรทำการ Hedging เพื่อปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังผันผวนอยู่ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า” บทวิเคราะห์ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนครึ่งที่ 37.18 บาท/ดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา โดยเงินบาทเป็นสกุลเงินที่ปรับตัวอ่อนค่า และมีความผันผวนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียในปีนี้

โดยการอ่อนค่าของเงินบาท เมื่อเทียบกับระดับปิด ณ สิ้นปี 66 เงินบาทอ่อนค่าลง 7.2% นับเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเงินเยนที่อ่อนค่าลง 9.5% ท่ามกลางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ จากการปรับการคาดการณ์ของตลาดว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะไม่เกิดขึ้นได้เร็ว ซึ่งส่งผลตามมาให้มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้น และพันธบัตรไทย ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พ.ค. 67)

นอกจากนี้ หากพิจารณาปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน พบว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในปี 67 ก็คือความแตกต่าง (Gap) ของอัตราดอกเบี้ยแต่ละประเทศกับสหรัฐฯ โดย Gap ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปี ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ อยู่ที่ -358.5 basis points (bps.)

ส่วน Gap ของไทยนั้น อยู่ที่ -168.7 bps. แม้จะไม่มากเท่ากรณีญี่ปุ่น แต่ก็มากกว่าหลายประเทศในเอเชีย ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของเงินบาท อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจ การส่งออก และดุลการค้า ก็ยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแอกว่าหลายประเทศโดยเปรียบเทียบ

สำหรับความผันผวนของเงินบาท เงินบาทมีความผันผวนประมาณ 7% สูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ตามหลังเงินเยน และเงินวอน ที่มีค่าความผันผวน 8.3% และ 7.3% ตามลำดับ

ทั้งนี้ แม้ค่าความผันผวนของเงินบาทในปีนี้ จะต่ำลงกว่าช่วงเดียวกันของปี 66 ที่มีค่าความผันผวนสูงกว่า 9% แต่ “ความผันผวนของค่าเงินบาท” เป็นหนึ่งในประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ติดตามอย่างใกล้ชิด (ตามเอกสารผลการประชุม กนง. รอบ 10 เม.ย. 67)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top