นักวิชาการ ห่วงกติกาสว.ใหม่เปิดช่องร้องเรียนอื้อ ทำประกาศชุดใหม่ไม่ทันส่งผลชุดเดิมอยู่ยาว

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “เลือก สว.กติกาใหม่ ใครได้ใครเสีย ?”

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องการสมัคร สว.ถือว่าเป็นปัญหาในทางกฎหมาย เนื่องจากการห้ามแนะนำตัวของผู้สมัคร สว.ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 67 เป็นต้นไป โดยเฉพาะการห้ามแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน จนกว่าจะมีการประกาศกฤษฎีกามีประกาศบังคับใช้ ทำให้มีคำถามว่าผู้สมัครจะแนะนำตัวในวิธีอื่นอย่างไร จึงต้องมีการตีความว่า ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวได้คือทำก็ได้ หรือไม่ทำก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีการจำกัดการแนะนำตัวของผู้สมัครแค่กระดาษ A4 ไม่เกิน 2 หน้า ถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงกว่า ระเบียบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) กกต.หรือไม่

 

เชื่อ 2 ก.ค.ประกาศ สว.ไม่ทัน

นอกจากนี้ คาดว่าจำนวนผู้สมัคร สว.ครั้งนี้ จะอยู่ในระดับหลักแสนคน จากเดิมยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ที่ประมาณ 5.5 หมื่นคน และเมื่อมีผู้สมัครจำนวนมากก็เชื่อว่าจะมีการคัดค้านร้องเรียนตามมาหลายเรื่อง ทำให้วันที่ 2 ก.ค. 67 กกต.ไม่น่าจะประกาศรายชื่อได้ทัน

สำหรับไทม์ไลน์ ในการเลือกสว. ดังนี้

– 10 พ.ค. สว.ชุดเก่าหมดวาระ

– 13 พ.ค. เปิดรับสมัคร สว.

– 9 มิ.ย. เข้าสู่การคัดเลือกระดับอำเภอ

– 16 มิ.ย. คัดเลือกระดับจังหวัด

– 26 มิ.ย. คัดเลือกระดับประเทศ

โดยการคัดเลือกมีการโหวต 6 ครั้ง ตั้งแต่กลุ่มอาชีพตัวเอง 20 กลุ่มอาชีพ ตั้งแต่ระดับอำเภอจนมาถึงระดับจังหวัด และประเทศ

นายปริญญา กล่าวว่า มั่นใจว่าวันที่ 2 ก.ค. 67 ไม่สามารถประกาศ สว.ชุดใหม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่สามารถส่งคำร้องคัดค้านตามกฎหมาย กกต.ได้ใน 3 วัน ทำให้จากการโหวตทั้งหมด 6 ครั้ง ถ้าหากมีการทำความผิดตั้งแต่ระดับอำเภอ ก็ทำให้คนที่เข้ามาในระดับจังหวัดก็ต้องผิดไปด้วย ก็ต้องไปเริ่มขั้นตอนใหม่หรือไม่

ส่วนเรื่องระเบียบ กกต.ควรทำให้ง่าย เพราะหากเขียนรายละเอียดหยุมหยิมมากมาย ก็ทำให้การร้องเรียนมีจำนวนมากตามมา จนทำให้การประกาศรายชื่อล่าช้าจากผู้สมัครที่มีจำนวนหลักแสนคน จึงคิดว่า กกต.จะทำทันหรือไม่ และทำให้ สว.ชุดเก่ารักษาการไปโดยไม่มีกรอบเวลา จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้ามา

 

รอดูคำสั่งศาลปกครองหาข้อยุติ

ด้านนายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่กลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า กรณีการร้องศาลปกครองมีการฟ้องระเบียบ กกต.ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เลือก สว.และรัฐธรรมนูญ แต่ระเบียบนี้เป็นโอกาสให้มีการฮั้วอย่างมาก หรือกรณีขั้นตอนการแนะนำตัวด้วยกัน ผู้สมัครจะรู้ได้อย่างไรว่าใครจะสมัครหรือไม่ ยังไม่นับการเลือกไขว้กัน เช่น ถ้าผู้สมัครมีอาชีพศิลปินและข้าราชการ จะทำให้ผู้สมัครรู้จักกันหรือไม่ ดังนั้น ยิ่งระเบียบคลุมเครือก็ทำให้ประชาชนไม่อยากมีส่วนร่วมในการเลือกครั้งนี้

นายรัชพงษ์ กล่าวว่า iLaw พยายามศึกษาระเบียบ กกต. และตีความเพื่อไม่ให้มีการคลุมเครือว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ แต่หากศาลปกครองยกคำร้อง iLaw ก็จะทำในสิ่งที่เราทำได้ สมมติระเบียบ กกต.ฉบับนี้ยังอยู่ ก็ต้องมาตีความว่ามีสิ่งใดที่ระเบียบไม่ได้บอกไว้ ดังนั้น ถ้าไม่มีอะไรห้ามไว้ก็ย่อมทำได้

“เมื่อดูระเบียบแนะนำตัวพบว่า ด้านแรกเป็นเนื้อหาว่าทำอย่างไรได้บ้างก็พบว่า จะแนะนำตัวได้อย่างเดียว แต่จะหาเสียงไม่ได้ ซึ่ง กกต.บอกว่าการหาเสียงคือการสัญญาว่าจะให้ซึ่งเป็นเรื่องอนาคต ส่วนการแนะนำตัวเป็นเรื่องของอดีตที่เคยทำมาว่าอย่างไร” นายรัชพงษ์ กล่าว

 

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า หวังว่า กกต.จะดำเนินการคัดเลือก สว.ให้เสร็จ เพื่อไม่ให้มีการบอกว่า สว.ชุดปัจจุบันจะอยู่นาน ส่วนเรื่องการฮั้วถ้าตนประเมินก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ไม่ทั้งหมด อาจจะเกิดแค่บางกลุ่มที่รู้เห็นเป็นใจกันและให้คะแนนกันเอง

ส่วนเรื่องการยื่นฟ้องศาลปกครองก็ขอให้ฟ้อง เพราะความเห็นที่ต่างกันก็ต้องหาข้อยุติ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าระเบียบที่ กกต.ออกมาเป็นอย่างไร

นายเสรี กล่าวว่า ในกรรมาธิการที่ตนเป็นประธาน มีการพูดกันมาตลอดว่า การได้มาของ สว.ชุดใหม่อยากเห็นแบบสุจริตและสำเร็จโดยเร็ว ส่วนการทำหน้าที่รักษาการถ้าเป็นไปได้ก็อย่าให้เกิดขึ้น โดยเข้าใจว่า กกต.จะรับรองก่อนแล้วไปสอยที่หลัง เพราะต้องมี สว.ชุดใหม่มาทำหน้าที่ แต่ขอว่าอย่ามีการรณรงค์อย่างเดียวว่าจะไปแก้รัฐธรรมนูญ เพราะคนเป็น สว.ต้องอิสระเป็นตัวของตัวเอง และอย่าไปทำในสิ่งไม่ดี ซึ่งตนยึดแบบนี้มาตลอด

ส่วนหากกกต.ไม่สามารถประกาศรายชื่อ สว.ชุดใหม่ทันวันที่ 2 ก.ค. ได้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ให้อำนาจ สว.โหวตนายกรัฐมนตรีได้ถึงวันที่ 10 พ.ค. จะเป็นไปได้หรือไม่จะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า สว.รักษาการจะมีอำนาจในการโหวตนายกฯ หรือไม่นายเสรี กล่าวว่า ถ้าดูตามตัวอักษรก็กำหนดชัดเจนว่าการเลือกนายกฯ ของสว.ชุดเดิมจะมีอำนาจแค่ 5 ปี ดังนั้น สว.ไม่มีอำนาจแล้ว แต่จะมีใครไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่า สว.มีอำนาจหรือไม่ ก็มีแต่การพูดกัน และตนไม่รู้ว่าใครจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตรงนี้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 67)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top