เตือนเช็คให้ดี! หากมีเงินฝาก 5 แสนบาท หลัง 31 มี.ค. อดได้เงินดิจิทัล

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการ ได้สรุปกำหนดกรอบเวลาสำหรับผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ 10,000 บาท

– โดยตามเงื่อนไขจะต้องมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท ไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. 67 ประกอบด้วย เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับเงินฝาก และรวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากชื่ออื่นที่มีลักษณะเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว โดยเงินฝากดังกล่าวให้หมายถึงเฉพาะเงินฝากในสกุลเงินบาทเท่านั้น โดยเป็นการรวมทุกบัญชีรวมกันในสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารพาณิชย์

– กำหนดกรอบสำหรับผู้ที่มีอายุ 16 ปี ที่จะได้รับสิทธิ์ตามโครงการ จะต้องไม่เกินวันที่ 30 ก.ย. 67 หรือวันสุดท้ายของการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ

– กำหนดใช้ฐานข้อมูลภาษีปี 66 เป็นเกณฑ์ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปี ที่จะเข้าร่วมโครงการ

ด้านการยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ (Negative List) ยังไม่ได้มีการพิจารณาเพิ่มเติม และเงื่อนไขทุกอย่างในโครงการยังคงเหมือนเดิม ซึ่งกำหนดลงทะเบียนในไตรมาส 3/67

“จะมีการนัดประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า โดยในการประชุมวันนี้มีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก อย่างกรณีประชาชนที่อายุ 16 ปี ที่ผู้ปกครองมีการออมเงินให้อย่างต่อเนื่อง จนมีเงินฝากในบัญชีรวมกันเกิน 5 แสนบาทนั้น ก็ถือว่าเป็นคนมีฐานะ ตรงนี้ก็ต้องตัดออก” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า นายพิชัย ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันกลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีความจำเป็น และนโยบายหลักของรัฐบาลในการแก้ปัญหาให้ประชาชนในขณะนี้ คือการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมทั้งยังให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในหลายประเด็นเกี่ยวกับโครงการ พร้อมได้เน้นย้ำให้การดำเนินโครงการต้องเป็นไปอย่างปลอดภัย และป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้เงินผิดประเภทด้วย

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า การประชุมวันนี้ส่วนใหญ่เป็นการหารือในเรื่องระบบ และเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้โครงการดำเนินต่อไปได้ เช่น เรื่องการยืนยันตัวตนจะเชื่อมอย่างไร ตัดสิทธิที่วันไหน เรื่องเงินฝากตัดวันไหน รวมอะไรบ้าง รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในโครงการ อาทิ การเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากร กรมการปกครอง เป็นต้น เพื่อหาข้อสรุปและดำเนินการต่อ

“แอปพลิเคชันที่จะใช้ในโครงการ กระบวนการยังดำเนินต่อเนื่อง ต้องมีการทำข้อตกลงกับหลายหน่วยงาน เช่น การตรวจสอบข้อมูลบัญชีเงินฝาก ก็จะต้องหารือกันว่าจะเชื่อมถังข้อมูลอย่างไร ใครรับผิดชอบส่วนไหน โดยเบื้องต้นจะใช้แอปพลิเคชันทางรัฐในการเชื่อมโยงข้อมูล” นายเผ่าภูมิ กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top