Power of The Act: ความพร้อมของระบบไฟฟ้าไทยในการรองรับ Low-Carbon Data Center

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 นายสัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการและซีอีโอของไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชัน (Microsoft) ได้กล่าวในงาน Microsoft Build: AI Day ซึ่งจัดขึ้นที่ กทม. ว่า Microsoft มีความประสงค์จะลงทุนในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทยเพื่อให้บริการคลาวด์ในสเกลใหญ่ของ Microsoft โดย Microsoft ประสงค์ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล และจะร่วมลงทุนกับรัฐบาลไทยเพื่อก่อสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการให้บริการคลาวด์และ AI ต่อไปในอนาคต

การก่อสร้างและใช้งานศูนย์ข้อมูลนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอน ซึ่งบริษัทระดับโลกอย่าง Microsoft นั้น “ใส่ใจ” กับผลกระทบดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง Microsoft ได้ให้คำปฏิญาณการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Pledge) ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 2020 ให้คำมั่นว่าบริษัทตั้งเป้าสู่สถานะการปล่อยคาร์บอนเป็นลบ (Carbon Negative) ภายในปี ค.ศ. 2030 อีกทั้งยังได้ประกาศว่าบริษัทมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 และบริษัทจะส่งเสริมการพัฒนาพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดจนประกอบธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Business Practice) ทั่วโลก

หากการก่อสร้างและใช้งานศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยจะก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอุปสรรคต่อคำปฏิญาณการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่ Microsoft ได้ให้ไว้ ประเทศไทยย่อมมิใช่ประเทศที่น่าลงทุนในโครงการศูนย์ข้อมูลของ Microsoft ผู้เขียนมีความเห็นว่าระบบไฟฟ้าผ่านการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะรองรับการก่อสร้างและใช้งานศูนย์ข้อมูลคาร์บอนต่ำของ Microsoft ได้

*การก่อสร้างที่ถูกออกแบบให้ลดการปล่อยคาร์บอนแต่แรก

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 Forbes ได้ให้ข้อมูลว่าศูนย์ควบคุมข้อมูลนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของการทำงานของอินเทอร์เน็ตซึ่งมีผู้ใช้เพิ่มสูงขึ้น 60% และมีการรับส่งข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น 440% ในระหว่างปี ค.ศ. 2015 ถึง 2021 แต่กลับก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มาก และไม่ได้ปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก โดยการวัดปริมาณคาร์บอนของศูนย์ข้อมูลนั้นเริ่มวัดตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้าง Forbes ให้ข้อมูลว่าการปล่อยหรือผลกระทบจากคาร์บอนจากศูนย์ข้อมูลนั้นราว 15% จะเกิดขึ้นในขั้นการก่อสร้าง ซึ่งการลดผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอนในส่วนนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Construction)

การก่อสร้างศูนย์ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงโดยใช้วัสดุที่มีเป็นวัสดุที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวัสดุทั่วไป (Low-Carbon Materials) ในการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในทางปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างศูนย์ข้อมูลของ Amazon Web Services (AWS) โดย AWS ให้คำอธิบายว่าในปัจจุบัน Amazon และ AWS กำลังให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอนและการมุ่งหน้าสู่การทำให้โครงสร้างพื้นฐานของบริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2040 โดยได้ให้ข้อมูลว่าศูนย์ข้อมูลจำนวน 43 แห่งของบริษัทนั้นถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยคอนกรีตและเหล็กที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคอนกรีตและเหล็กทั่วไป AWS อธิบายว่าแนวการปฏิบัตินี้ลดการปล่อยคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่า 22,000 ตัน

การก่อสร้างที่ถูกออกแบบให้ลดการปล่อยคาร์บอนนั้น เริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ลดการใช้คอนกรีตและเหล็กสำหรับโครงสร้างตั้งแต่แรก ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสอดคล้องกับหลักการสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเลือกใช้คอนกรีตที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคอนกรีตทั่วไป

อย่างไรก็ตาม AWS ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจว่าอุปสรรคสำคัญคือความมั่นใจว่าคอนกรีตที่เลือกใช้นั้นยังไม่ส่งผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ทั้งนี้ AWS ยังกระตุ้นให้ผู้ที่จะจัดหาสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้กับ AWS นั้นจะต้องใช้เหล็กที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งหมายความว่า AWS นั้นได้ให้ความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทานในการก่อสร้าง

*ห่วงโซ่อุปทานในขั้นตอนก่อสร้างศูนย์ข้อมูล

หาก AWS จะก่อสร้างศูนย์ข้อมูลที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่และจะมีผู้ขายคอนกรีตและเหล็กคาร์บอนต่ำเพื่อการก่อสร้างหรือไม่? คำตอบคือ “มี” ยกตัวอย่างเช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ได้พัฒนา “โซลูชันคอนกรีตคาร์บอนต่ำ ทางเลือกรักษ์โลก” โดยมีตัวอย่างเช่น คอนกรีตคาร์บอนต่ำซีแพค สูตรไฮบริด คือคอนกรีตที่ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hybrid Cement) และคอนกรีตคาร์บอนต่ำซีแพค สูตรรักษ์โลก มีส่วนผสมของเถ้าลอยถ่านหินทดแทนการใช้ปูนซีเมนต์

ส่วน บมจ. สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ก็ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ประเภทล้างผิวและเคลือบน้ำมันได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งได้ให้การรับรองว่าผลิตภัณฑ์เหล็กของ SSI ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ ที่มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน รวมถึงการขนส่งที่เกี่ยวข้อง

กล่าวได้ว่าประเทศไทยมีผู้จัดหาและขายคอนกรีตและเหล็กที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อรองรับการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลได้ การก่อสร้างนี้สามารถถูกเรียกได้ว่าเป็นการก่อสร้างในแบบที่มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ และที่สำคัญประเทศไทยเรามี อบก. ซึ่งมีภารกิจและศักยภาพในการรับรองว่าผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำนั้นเป็นคำพูดที่เป็นความจริงและสามารถตรวจสอบได้

*ไฟฟ้าสะอาดสำหรับศูนย์ข้อมูลคาร์บอนต่ำ

เมื่อการปล่อยหรือผลกระทบจากคาร์บอนจากศูนย์ข้อมูลนั้น 15% จะเกิดขึ้นในขั้นตอนก่อสร้าง จึงหมายความว่าอีก 85% จะเกิดขึ้นเมื่อศูนย์ข้อมูลได้ถูกใช้งานแล้ว ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงเวลานี้คือ “ไฟฟ้า” ที่ถูกนำมาหล่อเลี้ยงการทำงานของศูนย์ข้อมูล ซึ่ง Thairath Money ให้คำอธิบายที่น่าสนใจว่าศูนย์ข้อมูลนั้นจะต้องมีระบบไฟฟ้าที่ดีไหลผ่านตลอดเวลาและมีพลังงานสำรองและมีการควบคุมโดยวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และต้องอาศัยการเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จะเห็นได้ว่าความมั่นคงแน่นอนของระบบไฟฟ้านับเป็นปัจจัยหนึ่งที่แสดงถึงสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยหรือดึงดูดการลงทุนให้มีการก่อสร้างศูนย์ข้อมูล

Forbes ได้ให้ข้อมูลว่าในปี ค.ศ. 2021 Amazon และ Microsoft เป็นบริษัทที่ซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดโดยผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมข้อมูลในปัจจุบันยังมีการติดตั้งและใช้งานระบบกักเก็บพลังงานระบบจัดเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System หรือ “BESS”) แทนการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองและเพื่อสร้างความมั่นคงแน่นอนในการจ่ายไฟฟ้าหล่อเลี้ยงศูนย์ข้อมูล

การจัดหาไฟฟ้าสะอาดมาเพื่อหล่อเลี้ยงศูนย์ข้อมูลของ Microsoft นั้นมีตัวอย่างปรากฏข่าวจาก CNBC เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ว่า Microsoft ได้ลงทุนเป็นเงิน USD 10 billion ในบริษัท Brookfield Asset Management (Brookfield) เพื่อผลิตไฟฟ้า 10.5 gigawatt จากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนส่งให้ Microsoft ใช้หล่อเลี้ยง Data Center ซึ่ง Microsoft ประกอบการทั้งในสหรัฐอเมริกาและในทวีปยุโรป ในช่วงปี ค.ศ. 2026 ถึง ค.ศ. 2030

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 Balkan Green Energy News ได้รายงานว่า Microsoft ได้ให้คำมั่นว่าจะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน 100% โดยการซื้อ “Zero-Carbon Energy” ภายในปี ค.ศ. 2030 สัญญาที่ Microsoft ทำกับ Brookfield และ Brookfield Renewable Partners นั้นทำให้เกิดการก่อสร้างระบบการผลิตพลังงานที่ปราศจากคาร์บอน (Carbon Free Energy) ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปโดยมิได้จำกัดเฉพาะพลังงานลมและแสงอาทิตย์

*ความพร้อมของระบบพลังงานในประเทศไทย

หาก Microsoft จะลงทุนก่อสร้างศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยจริง คำถามที่เลี่ยงไม่ได้คือระบบพลังงานของประเทศไทยพร้อมที่จะรองรับความต้องการซื้อและใช้ไฟฟ้าที่ปราศจากคาร์บอนของ Microsoft หรือไม่ ทางเลือกที่หนึ่ง Microsoft สามารถติดตั้งและใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ณ ศูนย์ข้อมูล เพื่อผลิตและใช้ไฟฟ้าในศูนย์ข้อมูลเอง หรืออาจอนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าติดตั้งและใช้ระบบโซลาร์เพื่อผลิตและขายไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้ทั้งหมดให้ Microsoft เพื่อใช้หล่อเลี้ยงศูนย์ข้อมูล โดยที่ Microsoft จะรับซื้อไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชน (On-Site Private PPA) กรณีนี้ กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ ทั้ง Microsoft และผู้ผลิตไฟฟ้าที่จะขายไฟฟ้าสามารถขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าและใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ได้

นอกจากนี้ Microsoft ยังมีทางเลือกที่จะซื้อไฟฟ้าสะอาดจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นที่มีระบบผลิตไฟฟ้าอยู่ห่างออกไปจากศูนย์ข้อมูลโดยผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชน (Offsite Private PPA) โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้านี้ ผู้ขายไฟฟ้านั้นไม่จำเป็นต้องสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าขึ้นโดยเฉพาะเพื่อส่งมอบไฟฟ้าที่ตนผลิตให้กับ Microsoft หากแต่เป็นกรณีที่ผู้ผลิตนั้นส่งพลังงานไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของเจ้าของระบบโครงข่ายไฟฟ้ารายอื่น เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยเสียค่าบริการให้กับเจ้าของระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ให้บริการส่งผ่านไฟฟ้าจากจุดที่มีการผลิตไปยังศูนย์ข้อมูลของ Microsoft

ระบบกฎหมายไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพรองรับการซื้อขายและส่งผ่านไฟฟ้าแบบเสมือนข้างต้น ผู้ขายไฟฟ้าสามารถขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าจาก กกพ. โดยอาศัย Offsite Private PPA เป็นหลักฐานประกอบคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าได้ ผู้ผลิตไฟฟ้ามีสิทธิในการเชื่อมต่อและใช้บริการตามมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ขอเชื่อมต่อและใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ กฟผ. กฟน. หรือ กฟภ. เป็นเจ้าของเพื่อส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าไปให้กับ Microsoft ได้ โดยทำสัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Service Agreement) กับ กฟผ. กฟน. หรือ กฟภ. และกำหนดให้การไฟฟ้าเก็บค่าไฟฟ้าที่ Microsoft ใช้จากระบบโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งไฟฟ้าในส่วนนี้เป็นการซื้อขายไฟฟ้าตาม Offsite Private PPA โดยที่ กกพ. รับรู้ถึงหลักกการซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าลักษณะนี้ในชื่อ “Sleeved PPA” (ปรากฏตามสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT เผยแพร่โดย กกพ.)

การซื้อขายและส่งมอบพลังงานไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าและ Microsoft ตาม Offsite Private PPA และ Wheeling Service Agreement นั้นเป็นการซื้อขายและส่งมอบพลังงานไฟฟ้า “แบบเสมือน” กล่าวคือหน่วยไฟฟ้าที่ Microsoft ใช้ ณ ศูนย์ข้อมูลจริงนั้น “อาจมิใช่” หน่วยไฟฟ้าที่ผู้ผลิตได้จ่ายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้า

คำถามก็คือ การซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะนี้ผิดกฎหมายหรือไม่? ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ผิดกฎหมาย สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบเสมือนนั้นโดยสารัตถะแล้วเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งกล่าวคือ ผู้ซื้อ (Microsoft) จ่ายเงินเพื่อให้ผู้ขาย (ผู้ผลิตไฟฟ้า) ผลิตไฟฟ้าสะอาดและจ่ายไฟฟ้าสะอาดดังกล่าวเข้าระบบโครงข่าย (ทำให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีไฟฟ้าสะอาดมากขึ้น) ผู้ขายจะต้องทำให้ Microsoft ซึ่งใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายที่ตนมิได้เป็นเจ้าของ (และมีหน่วยไฟฟ้าอื่นปะปนกับหน่วยไฟฟ้าที่ตนจ่ายเข้าสู่ระบบ) “สามารถนับได้” ว่าศูนย์ข้อมูลนั้นใช้ไฟฟ้าสะอาดจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าจริง

เมื่อหน่วยไฟฟ้าที่ Microsoft ใช้จากระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อหล่อเลี้ยงศูนย์ข้อมูลนั้น อาจมิใช่หน่วยที่ผู้ผลิตไฟฟ้าสะอาดได้จ่ายเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า คำถามที่เกิดตามมาก็คือ Microsoft จะกล่าวได้อย่างไรว่าตนใช้ไฟฟ้าสะอาดจริง? และการซื้อไฟฟ้านี้จะผิดคำปฏิญาณการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่บริษัทได้ให้ไว้หรือไม่? กรณีนี้ Microsoft จะต้องได้รับโอนใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate) หรือที่เรียกกันว่า “REC” จากผู้ผลิต (ผู้ขาย)

REC เป็นเอกสารที่รับรองว่ามีการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนซึ่งได้มีการจ่ายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าแล้ว (REC 1 ใบเท่ากับมีไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน 1 MWh) ใบรับรองรองนี้ ผู้ผลิตไม่ได้ออกเอง แต่จะต้องดำเนินการให้ กฟผ. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก International REC Standard Foundation (I-REC Standard) ให้เป็นผู้ตรวจสอบและออก REC ประจำประเทศไทย (Local Issuer) ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่าทรัพย์สินอันเป็นวัตถุของ Offsite Private PPA ซึ่งจะมีการส่งมอบตาม Wheeling Service Agreement นั้นรวมถึง REC ด้วย โดยที่ พลังงานไฟฟ้าที่มี REC นี้ จะถูกนิยามให้เป็น “ไฟฟ้าสีเขียว” ตามประกาศ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์การให้บริการและกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) พ.ศ. 2566

โดยสรุป หาก Microsoft จะลงทุนเพื่อก่อสร้างและใช้งานศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยแล้ว ห่วงโซ่อุปทานของการก่อสร้าง เช่น คอนกรีตและเหล็กคาร์บอนต่ำ (ซึ่งสามารถได้รับการรับรองโดย อบก.) จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ Microsoft สามารถก่อสร้างศูนย์ข้อมูลคาร์บอนต่ำได้ ขณะที่ในขั้นการใช้งานศูนย์ข้อมูลนั้น ระบบกฎหมายไทยสามารถรองรับการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าสะอาดเพื่อหล่อเลี้ยงศูนย์ข้อมูลได้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตและส่งมอบให้มีการใช้ไฟฟ้า ณ ศูนย์ข้อมูล หรือกรณีที่มีการส่งผ่านไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าสะอาดที่อยู่ห่างออกไปจากศูนย์ข้อมูล

Microsoft สามารถซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตดังกล่าวจากผู้ผลิตตาม Offsite Private PPA ซึ่งจะมีการส่งมอบโดย กฟผ. กฟน. หรือ กฟภ. ตาม Wheeling Service Agreement โดยที่ระบบกฎหมายไทยได้เปิดโอกาสให้ Microsoft รับโอน REC จากผู้ผลิตไฟฟ้าซึ่งจะสามารถทำให้ Microsoft สามารถกล่าวได้ว่าตนซื้อหรือจ่ายเงินเพื่อให้มีการผลิตไฟฟ้าสะอาดตามคำมั่นว่าจะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top